ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เตรียมยกระดับมาตรฐาน SET ESG Rating สู่ระดับสากล ร่วมกับพันธมิตรผู้ประเมิน ESG ระดับโลกอย่าง FTSE Russell (ฟุตซี่ รัสเซล) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSEG : London Stock Exchange Group) ในการเป็นผู้ประเมินมาตรฐาน ESG ให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยตามเกณฑ์ Global Standard คาดใช้เวลาเปลี่ยนผ่านและเตรียมความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทย 2 ปี ก่อนเปลี่ยนใช้ชื่อ FTSE ESG Scores (ฟุตซี่อีเอสจีสกอร์) เพื่อสร้างการยอมรับและดึงดูดนักลงทุนได้จากทั่วโลก
คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยกระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืนไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล จะทำให้ตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา SET ได้ปรับมาตรฐาน ESG Rating เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) และพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญ พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจสำหรับนักลงทุนใช้ในการพิจารณาการลงทุน โดยเฉพาะการร่วมมือกับ FTSE Russell คร้ังนี้ จะทำให้ตลาดทุนได้ประโยชน์ใน 4 มิติ สำคัญ ได้แก่
1. การเพิ่มความโปร่งใสและลดภาระให้ บจ. เนื่องจาก เปลี่ยนวิธีในการประเมินจากเดิมที่ใช้การตอบแบบสอบถามโดย บจ. ที่ต้องการเข้ารับการประเมินเป็นผู้ตอบเอง มาเป็นการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ ทั้งจากการเปิดเผยของแต่ละธุรกิจเอง (Self-Declare) รวมถึงข้อร้องเรียนจากภาคส่วนต่างๆ จากการมอนิเตอร์ของผู้ประเมิน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ Global Standard ใช้ประเมิน รวมทั้งลดภาระในการจัดเก็บและส่งข้อมูลของภาคธุรกิจ
2. เพิ่มการยอมรับในมาตรฐานการดำเนินงานของภาคธุรกิจไทยในสากล เนื่องจาก ประเมินโดยผู้ประเมินที่มีมาตรฐานระดับโลก ทำให้เพิ่มโอกาสของหุ้นจากตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับและพิจารณาการลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น
3. เพิ่ม Best Practice ให้ภาคธุรกิจไทย จากแนวทางการประเมินของ FTSE Russell ที่มีการพิจารณาปัจจัยที่ธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญอย่างละเอียด ทั้งกรอบโดยรวม และเฉพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินในบริษัทกว่า 8 พันแห่ง จาก 47 ประเทศทั่วโลก
4. ยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนในประเทศไทยให้เป็นสากล จากการประเมินที่สอดคล้องกับโมเดลของ FTSE ESG Scores ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานอิสระในหลายแขนงทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุน NGO และนักวิชาการ ภายใต้การประเมินที่สอดคล้องกับมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม
“ในช่วงนำร่อง 1-2 ปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำการประเมินทั้ง 2 มาตรฐาน คือ SET ESG Rating และ FTSE Russell ESG Scores โดยยังไม่มีการเผยแพร่ผลประเมินของทางฟุตซี่ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ทาง บจ. ปรับตัวและแก้ไข โดยจะเริ่มเผยแพร่ผลประเมินและเปลี่ยนผ่านมาใช้มาตรฐาน FTSE Russell ESG Scores อย่างเป็นทางการในปี 2569 ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกระบวนการในการเปลี่ยนผ่าน มาตรฐานและตัวชี้วัดการประเมินให้ภาคธุรกิจทราบและปรับตัว ทั้งการจัดอบรมสัมมนา Workshop ให้ความรู้ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ รวมทั้งการสื่อสารในวงกว้างเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้”
นำร่องประเมินพี่ใหญ่ SET 100 ช่วงเปลี่ยนผ่าน
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมถึงทิศทางและโรดแม็พในการเปลี่ยนผ่านว่า โมเดลในการประเมินของ FTSE ESG นั้น พิจารณาจาก 3 มิติ คือ ส่ิงแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) 14 ธีม แบ่งแยกย่อยในแต่ละมิติ เช่น สิ่งแวดล้อม จะมีเรื่อง Biodiversity, Climate Change, Pollution ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ รวมทั้งซัพพลายเชน ส่วนมิติสังคม ทั้งเรื่องของแรงงาน สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพพนักงาน หรือความรับผิดชอบต่อลูกค้า ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล เช่น การป้องกันคอรัปชั่น การจัดการด้านความเสี่ยง และความโปร่งใสด้านภาษี โดยในระดับโลกจะมีการใช้ตัวชีวัดต่างๆ มากกว่า 300 ตัวชี้วัด ขณะที่บริบทและลักษณะธุรกิจในประเทศไทยจะใช้ตัวชี้วัดเฉลี่ยที่ราว 140 ตัวชี้วัด
“ที่ผ่านมา เรามีการยกระดับมาตรฐาน SET ESG Rating มาโดยตลอด ทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งการจัดเรตติ้งเพื่อประเมินการดำเนินงาน ซึ่งมีพัฒนาการมากขึ้น มีบริษัทเข้ารับการประเมินแล้ว 192 บริษัท แต่หากเทียบกับภาพรวมที่มีบริษัทจดทะเบียนเกือบ 900 บริษัท ยังถือว่าไม่มากนัก การจะเพิ่มมาตรฐานความยั่งยืนให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วยการรอความสมัครใจจากภาคธุรกิจจึงอาจไม่ตอบโจทย์ ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการประเมินที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากสาธารณะต่างๆ อาจจะยังมีไม่มากพอสำหรับนำมาประเมิน แต่ในยุคปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลหลากหลายและรอบด้านมากขึ้น ทำให้มีความเหมาะสมสำหรัลการใช้อ้างอิงในปัจจุบัน ซึ่ง ในปีแรกจะนำร่องด้วยการประเมิน 192 บริษัทที่อยู่ใน SET ESG Rating รวมท้ังอีก 35 บริษัทใน SET 100 ที่ยังไม่ได้เข้าประเมิน รวมทั้งบริษัทขนาดกลางหรือเล็กที่สมัครใจเข้าร่วมประเมินในปี 2568 โดยตั้งเป้าจะสามารถเพิ่มการประเมินมาตรฐาน ESG เพิ่มขึ้นจาก 192 บริษัท เป็น 300-400 บริษัท หรือประมาณ 50% ของจำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และครอบคลุม Market Cap หรือมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดได้ราว 90% ”
ท้ังนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จะมีการประเมินทั้ง 2 มาตรฐานควบคู่กันไป แต่จะยังไม่เปิดเผยมาตรฐาน FTSE ESG Scores โดยจะส่งผลการประเมินตรงไปยังบริษัทที่ถูกประเมิน เพื่อให้รับทราบทำการปรับปรุงแก้ไข ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะในปี 2569 ซึ่งหากภาคธุรกิจที่ได้รับการประเมินไม่เห็นด้วยต่อผลการประเมินที่ได้ สามารถชี้แจง หรือสอบถามมาตรฐานการประเมินจากทาง FTSE ซึ่งการตรวจสอบการประเมินต่างๆ จะเป็นไปอย่างเปิดเผย แต่ไม่สามารถห้ามการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะได้
สำหรับการเลือกใช้มาตรฐาน FTSE Russell เนื่องจาก เป็นพันธมิตรที่เข้ามาร่วมทำงานเพื่อการยกระดับมาตรฐาน ESG กับทาง SET มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นราวปี 2565 ประกอบกับ มีภารกิจในการประเมินบริษัทในตลาดหุ้นของไทยครอบคลุมกว่า 30-40 บริษัทอยู่แล้ว ทำให้กลายเป็นพาร์ทเนอร์รายแรกเพื่อนำร่องการประเมินตามมาตรฐานสากล แต่ในอนาคต ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดกว้างสำหรับพันธมิตรรายใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก การจัดมาตรฐานในบางประเทศก็มีการใช้ในหลากหลายระบบ
อย่างไรก็ตาม ความกังวลถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานด้าน ESG ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า แม้หลายธุรกิจ ที่ได้รับการประเมินอยู่ในลิสต์หุ้นยั่งยืน แต่กลับมีปัญหาเรื่องของการทุจริต หรือความโปร่งใสต่างๆ นั้น ทาง ดร.ศรพล ให้ความเห็นว่า “เรื่องความน่าเชื่อถือของธุรกิจที่ได้รับการประเมินด้วยเรตติ้งระดับสูง ถือเป็นปัญหาคลาสิกที่หลายคนกังวล ซึ่ง ต้องยอมรับว่าไม่มีมาตรฐานใดที่สามารถรับรองความถูกต้องได้ 100% แต่การมีข้อมูล ดีกว่าไม่มีข้อมูล และการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยไว้ในสาธารณะ เหมือนกับการมีหลายตาช่วยกันตรวจสอบ ทั้งนักวิเคราะห์ NGO หรือหน่วยงานกำกับต่างๆ และเป็นอีกหนึ่งข้อดีของการขยับมาใช้มาตรฐานใหม่นี้ จากเดิมที่เป็นการเซอร์เวย์ มาเป็นการใช้ข้อมูลสาธารณะ เพราะการมีข้อมูลมากพอมีความสำคัญ รวมทั้งการมีคู่เทียบที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่อาจมีอยู่แค่ภายในประเทศ 100-200 ราย มาเป็นกว่า 8 พันราย ทำให้เราสามารถตรวจจับความผิดปกติของข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุงอยู่เสมอ เหมือนที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังยกระดับและปรับปรุงมาตรฐานให้สูงขึ้น”