ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากธุรกิจ MSMEs คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของธุรกิจทั่วโลก หรือ 7 ใน 10 ของการจ้างงานทั่วโลก อีกทั้งยังมีส่วนร่วมใน GDP โลกกว่า 50%
ดังนั้นสถานการณ์ความเป็นอยู่และการปรับตัว (Resilience) ของ MSMEs จึงอาจสะท้อนถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งอาจรวมถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้ทันท่วงทีท่ามกลางภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ MSMEs เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ
ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้รักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ต้องหันกลับมามองว่า โมเดลธุรกิจของเรามีความยืดหยุ่นแล้วหรือยัง ? เพราะจะเป็นตัวกำหนดวิธีการที่บริษัทหนึ่งๆ จะสามารถสร้าง ส่งมอบ และเก็บเกี่ยวคุณค่า (Business Value) ให้แก่ตนเอง
แล้วเราจะปรับโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและรักษาความสามารถในระยะยาวได้อย่างไร ?
กำหนดคุณค่าและจัดสรรทรัพยากรใหม่ (Reconfigure & Redeploy)
บริษัทที่สามารถจัดการห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดสรรทรัพยากรอย่างยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจะมีความพร้อมในการปรับตัวกับปัญหาใหม่ๆ มากกว่า
ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานและการจัดสรรทรัพยากรใหม่สำหรับ MSMEs จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันและบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืน
สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับ MSMEs มากกว่าธุรกิจขนาดอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กต้องดำเนินการด้วยทรัพยากรที่จำกัด และต้องการความคล่องตัวจึงจะเติบโตในตลาดได้ ในระหว่างกระบวนการปรับโมเดลธุรกิจ MSMEs จะต้องประเมินการดำเนินการหลักของตนและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีกลยุทธ์เพื่อประสิทธิภาพที่สูงที่สุด โดยการกำหนดคุณค่าห่วงโซ่ การจัดหาใหม่ (Reconfigure) อย่างการเร่งการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการ ขณะเดียวกันก็จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ใหม่ให้ เกิดประโยชน์สูงสุด (Redeploy) เช่น นำกลับมาใช้ใหม่ หรือปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ของทรัพยากรบางอย่างให้นอกเหนือไปจากความตั้งใจเริ่มแรก
กลยุทธ์เหนือน่านน้ำ (Above the Ocean)
กลยุทธ์เหนือน่านน้ำ (Above the Ocean Strategy) ของ BRANDi ตอกย้ำว่าภาคธุรกิจควรมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ มีความสามารถในการปรับตัว และ ไม่จำกัดตัวเองอยู่เพียงอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนเดียวที่ตนอยู่ (Diversify) หากธุรกิจให้บริการที่หลากหลายและมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากน่านน้ำ (Ocean) ปกติของตัวเอง ธุรกิจนั้นก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดมาจากความผันผวนของตลาดและสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว กล่าวคือ ธุรกิจจะสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในสภาวะ “ปกติ” และ “ไม่ปกติ” อันนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนนอกจากนี้ หากมีการร่วมมือกันกับองค์กรต่างๆ ธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของตนเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ เข้าถึงตลาด และมีโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ โดยเปลี่ยนการมุ่งเน้นจาก “ตนเอง” ไปสู่ “ระบบนิเวศ” ทั้งหมด
SME จะสามารถรักษาความคล่องตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโดยการนำโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่นมาปรับใช้ โมเดลเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ และคว้าโอกาสได้อย่างรวดเร็ว การกำหนดคุณค่าห่วงโซ่อุปทานใหม่และการจัดสรรทรัพยากรเชิงกลยุทธ์จึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่บริษัทต่าง ๆ สามารถใช้ในการจัดการกับความซับซ้อนของตลาด และรับประกันว่าธุรกิจจะยังคงอยู่ในตลาดได้ต่อไป
ข้อมูล : BRANDi and Companies