ทิ้งขวดแก้ว ทำไมต้องแยกขยะ

เพราะขวดแก้วขายได้  แต่จะหาขวดเก่าก็ต้องมีคนไปหาตามกองขยะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตต่างๆ แตกต่างจากเยอรมนี แยกขวดตั้งแต่ที่บ้านโดยแยกใส่ถุง หากไม่เอาไปที่สเตชั่นทิ้งขวดที่มีมากมาย ก็จะเก็บไว้รอใส่รถขยะรีไซเคิล ทำให้ง่ายในการนำกลับมาใช้


ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า ‘บีจีซี’ มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับแนวหน้าของโลก เพื่อเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมสีเขียว

“ต้นน้ำส่วนหนึ่งจะต้องมีส่วนผสมของเราเป็นเศษแก้ว 60-70% แต่ที่เยอรมัน 100 % คือเขาขายขวด 100 ขวด กลับมาผลิตใหม่ 100 ขวด ทั้งมาในรูปขวดมาล้างใช้ใหม่หรือทุบแล้วผลิต แต่ที่เมืองไทยขวดหาย เพราะใช้แล้วทิ้งไปเลย แต่ในยุโรปเขามีสถานีที่ทิ้งขวดแล้วได้เงินกลับมา เป็นการเอาไปทิ้งเองซึ่งเป็นจิตสำนึกของเขา หรือไม่ก็มีคนเอาไปทิ้งให้แล้วได้เงินกลับมา แล้วสถานีแบบนี้มีทุกซุปเปอร์มาร์เก็ต จึงง่ายที่เอาขวดกลับมาใช้ แตกต่างจากเมืองไทย ”

ศิลปรัตน์ ขยายความว่า ที่เมืองไทย ทุกโรงงานก็พยายามหาขวดเก่ากลับมาทำเป็นเศษแก้วให้มากที่สุด เฉพาะบีจีซี ใช้เศษแก้วผลิตขวดแก้ววันละ 4 พันตันสำหรับ 4 โรงงาน  ต้องนำเข้าเศษแก้วขวดจากเมียนมาร์และสปป.ลาว เพื่อนำมารีไซเคิลผลิตขวด จริงๆแล้วขวดเก่าทุกขวดขายได้ เศษแก้ว มี 3 สีที่ BGC รับซื้อคือ สีชา 3.60 บาทต่อกิโล สีขาว 3.20 บาทต่อกิโล สีเขียวราคาพอๆ กับสีขาว

ทั้งนี้ ซาเล้งเก็บ ขายในให้เลเวล 2 ก่อนส่งให้เลเวล 1 เช่นวงษ์วาณิชย์ หรือทวีทรัพย์ ซึ่งจะเลือก มาส่งให้ทุกโรงงานซึ่งจะต้องทุบเป็นเศษแก้วให้ได้ขนาดที่เหมาะสม เพราะหากชิ้นใหญ่เกินไปก็จะใช้พลังงานมากขึ้น โดยเศษแก้วมี 2 แบบคือ เศษแก้วคัดแล้ว เศษแก้วยังไม่ได้คัด เศษแก้วมีอย่างอื่นปน 5-10%

คงจะเป็นการกล่าวไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า ถ้าหากมีการแยกขยะจากครัวเรือน แม้กระทั่งแยกขวดแก้วออกมาต่างหาก ล้วนแต่มีผลดีต่อสิ่งแวด ทั้งในกระบวนการรีไซเคิล หรือรียูส และการเป็นขยะคุณภาพในการทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป

Stay Connected
Latest News