หลังมีการประกาศเตรียมปรับเงื่อนไข ‘กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน‘ หรือ Thai ESG Fund (TESG Fund) โดยเตรียมนำเสนอ ครม. เพื่อสามารถเปิดโอกาสให้เริ่มลงทุนครั้งใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้
โดยเงื่อนไขของ Thai ESG Fund ในรอบใหม่นี้ ได้ขยับทั้งวงเงินให้เพิ่มสูงขึ้นจาก 1 แสน เป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาในการถือครองจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ 3-4 หมื่นล้านบาท เพิ่มมากขึ้นจากรอบก่อนหน้าที่เปิดโอกาสให้ลงทุนระยะสั้นๆ เพียงแค่ 1 เดือน แต่มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาราว 6 พันล้านบาท
เครื่องมือทางการเงินเร่งธุรกิจปรับตัว
นอกจากมิติของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนแล้ว อีกหนึ่งเอฟเฟ็กต์สำคัญของการปรับเงื่อนไข Thai ESG Fund ครั้งนี้ คือ จะมีภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) เร่งปรับตัวและให้ความสำคัญในการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน ทั้งนโยบายด้านการกำกับกิจการที่ดี และผลการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ได้เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจาก เงื่อนไขสำคัญของกองทุนนี้คือ การนำเงินจากองทุนไปสนับสนุนการลงทุนที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามข้อตกลงใน COP 26 เพื่อมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องเพิ่มศักยภาพในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) ในภาพรวมช่วงปี 2021 -2030 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ถึง 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ดังนั้น กองทุน Thai ESG จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย ผ่านเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบการออมระยะยาว โดยจะนำเงิน ไปลงทุนผ่านหุ้นใน SET และ mai ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG แผนการจัดการ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการลด GHG Emission และผ่านการทวนสอบ หรือได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้ภาคธุรกิจที่อยากได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าเกณฑ์ในการได้รับการสนับสนุนได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก SET ระบุว่า การเกิดข้ึนของ Thai ESG Fund ส่งสัญญาณความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เพราะทำให้กลุ่ม บจ. ที่ยังไม่ได้อยู่ใน SET ESG หรือยังไม่ได้จัดทำรายงานด้านความยั่งยืน มีแรงจูงใจในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG มากขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 43%
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้ บจ. ต้องเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ 56-1 One Report ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG Scope 1 และ Scope 2 แต่ยังเป็นแบบ comply or explain คือ มีเกณฑ์ให้ต้องเปิดเผยข้อมูล แต่หากไม่เปิดเผยสามารถชี้แจงเหตุผลได้ เนื่องจาก การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ยังเป็นความท้าทายของ บจ. หลายๆ แห่ง เนื่องจากต้องเผชิญกับอุปสรรคและความซับซ้อนหลายประการ เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลการปล่อย GHG จากแหล่งต่างๆ ในบริษัทและซัพพลายเชนต้องใช้ทรัพยากรและเวลามาก การติดตามและรวบรวมข้อมูลจากกระบวนการผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงานในกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทอาจซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่มีขนาดเล็ก และหลายแห่งขาดความเชี่ยวชาญ รวมทั้งทรัพยากรที่เพียงพอในการดำเนินการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ หรือขาดทีมงานที่มีความรู้ความเข้าใจด้านนี้ ทำให้การรายงานเป็นเรื่องยาก
อีกทั้งการรายงานการปล่อย GHG ใน Scope 3 ต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้ขาย ผู้ผลิต และผู้ให้บริการในซัพพลายเชน การขาดความโปร่งใสและการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้จากบุคคลภายนอกเป็นอุปสรรคสำคัญในการรายงานข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง การทำให้ระบบการจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพและการตรวจสอบข้อมูลโดยบุคคลที่สามอาจมีต้นทุนสูง อีกทั้งข้อมูลที่จัดเก็บไว้อาจพบว่าไม่ตรงหรือไม่ครอบคลุมกับมาตรฐานในประเทศหรือในระดับสากลที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ดี ยังพบว่าบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีการตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อบรรลุ GHG Emission คิดเป็น 24% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยมีส่วนต่างระหว่าง เป้าหมายที่ตั้งไว้ กับปริมาณที่มีการปล่อย GHG จริง ในปี 2023 อยู่ที่ 2.1 เท่า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทที่มีการตั้งเป้าควบคุมการปล่อย GHG มากที่สุดได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี คิดเป็น 41% ของจำนวนบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งหากพิจารณาส่วนต่างระหว่างเป้าหมายและปริมาณการปล่อย GHG ในปี 2023 ของกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ที่ 0.9% เท่านั้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG สูงเช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มบริการ มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นค่อนข้างท้าทาย แสดงให้เห็นว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวตระหนักถึงความสำคัญ และจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนงานการติดตามความคืบหน้าที่ชัดเจนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
สำหรับปี 2023 มีบริษัทจดทะเบียนไทยเปิดเผยข้อมูลการปล่อย Scope 1, Scope 2 และ Scope 3 อยู่ที่ 56% 57% และ 39% ตามลำดับ โดยพบว่า มีกลุ่ม บจ. เปิดเผยข้อมูล GHG Emission เพื่อให้เข้าเกณฑ์ Thai ESG Fund เพิ่มขึ้นในภาพรวม 30% ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ใน SET ESG อยู่แล้ว 1% และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ใน SET ESG มากถึง 43%
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่า การเพิ่มความสามารถในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG ให้มากขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ รวมท้ังต่อยอดไปถึงธุรกิจใหม่ๆ เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการการปล่อยมลพิษให้เหมาะสมกับแผนและมาตรการที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
กสิกรไทยคาด ช่วยหนุนตลาดทุนในระยะยาว
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการปรับเงื่อนไขใหม่ของกองทุน Thai ESG จะช่วยหนุนตลาดทุนไทยในระยะยาวได้ จากการเติบโตของกองทุนตามหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น หลังการประกาศมาตรการลด GHG Emission ของภาครัฐในอนาคต เช่น มาตรการภาษีคาร์บอน, พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2
รวมทั้งการศึกษากรณีศึกษาต่างๆ จากต่างประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่พบว่า การส่งเสริมงานด้าน ESG จะส่งผลบวกต่อผลตอบแทนหุ้น หรือตลาดหุ้น
ขณะที่สินทรัพย์รวม (Total Net Assets) ของกองทุน Thai ESG เมื่อเดือน พ.ค. 2567 อยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.9% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมด ขณะที่จำนวนหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทย (SET ESG) ปัจจุบันมี 209 บริษัทคิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) รวมกันกว่า 10.87 ล้านล้านบาท