อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟดี กรีน ยึดมั่นหลัก Ajinomoto Biocycle ช่วยเกษตรกรไทยผู้ปลูก “มันสำปะหลัง” สานต่อโครงการ Thai Farmer Better Life Partner มุ่งเสริมทักษะเกษตรกรครบวงจร
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทต้นแบบทางธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย เดินหน้ามอบความ “กินดีมีสุข” ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรเติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทฯ ในระดับโลก
ชูวัฏจักรชีวภาพ (Ajinomoto Biocycle) สร้างระบบนิเวศเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสานต่อ โครงการ Thai Farmer Better Life Partner ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ทลายขีดจำกัดและปัญหาทางเกษตร ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพเสริมทักษะเกษตรกรไทยแบบครบวงจร โดยส่งโมเดล “Farm School” มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและกาแฟ เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
มันสำปะหลังเป็น พืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก ประเทศไทยปลูกมันสำปะหลังรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าตลาด 69,839 ล้านบาท โดยมันสำปะหลังมีความต้องการของตลาดเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี ในขณะที่กาแฟโรบัสตามีมูลค่าตลาด 1,051.59 ล้านบาท ซึ่งตลาดกาแฟไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.55% ต่อปี
ขณะที่ความต้องการของตลาดมีสูงขึ้น แต่ประเทศไทยกลับเผชิญกับปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังและกาแฟลดลง พบว่าผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้จะลดเหลือรวม 24.7 ล้านตัน จากปี 2558 ที่มีผลผลิตรวม 33.5 ล้านตัน สำหรับปี 2566 มีผลผลิตกาแฟรวม 16,575 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผลผลิตรวม 37,992 ตัน สะท้อนความสำคัญของปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตร
นอกจากนี้ ยังพบ 6 ปัญหาหลักที่เกษตรกรมันสำปะหลังพบเจอ ได้แก่ 1) การจัดการดิน 2) การเลือกท่อนพันธุ์ 3) การจัดการน้ำ 4) การเลือกใช้ปุ๋ย 5) การจัดการแปลง 6) การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม โดยการจัดการท่อนพันธุ์มันสำปะหลังถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากต้องเลือกท่อนพันธุ์มันสะอาด ปราศจากโรค มีคุณภาพ และเหมาะสมกับดิน หากกระบวนการจัดการต่าง ๆ ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้ผลผลิตต่ำลงและไม่มีคุณภาพเพียงพอ สำหรับไร่กาแฟเผชิญปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ปุ๋ย ดิน และการจัดการมอด ส่งผลต่อรสชาติและผลผลิตลดลง
ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เพื่อมุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ ตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทฯ ในระดับโลก สู่เป้าหมายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ได้สำเร็จ ภายในปี 2573 เราใช้แนวคิดวัฏจักรชีวภาพ (Ajinomoto Biocycle) สร้างระบบนิเวศเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสานต่อ โครงการ Thai Farmer Better Life Partner ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมทักษะเกษตรกรไทยแบบครบวงจร ในฐานะที่บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้วัตถุดิบแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เราแสดงจุดยืนให้คนไทย “กินดีมีสุข” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้ชาวไร่มันสำปะหลังทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อยอดสู่ชาวไร่กาแฟให้พร้อมเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง โดยปีนี้ตั้งเป้าให้มีเกษตรกรมันสำปะหลังและกาแฟใน 5 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตาก เลย เชียงราย เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1,570 ครัวเรือน”
“ในปีนี้ เรายังคงเดินหน้าเป็นเพื่อนคู่คิดเกษตรไทยด้วยการส่งโมเดล “Farm School” แนะนำทฤษฎีใหม่ในการเพาะปลูกมันสำปะหลังเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรในเชิงลึก แบบ O2O (Online-to-Offline) ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จริงในรูปแบบแปลงทดลอง (Field Test) ที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการแบ่งแปลงทดลองมันสำปะหลังออกเป็น 10 แปลง ที่แตกต่างกัน เช่น แปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเกษตร วิธีแก้ไขปัญหาหลักที่เกษตรกรพบเจอ โดยเปิดให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พร้อมร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการลงพื้นที่ อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์วัดผลความรู้เกษตรกรเพื่อพัฒนาทักษะแก่เกษตรกรไทย สำหรับการสื่อสารทางออนไลน์ มีการใช้โซเชียลมีเดียทั้ง Facebook, TikTok, LINE เป็นเครื่องมือสำคัญในการครีเอทคอนเทนต์ เทคนิค และองค์ความรู้ให้เข้ากับอินไซต์เกษตรยุคใหม่มากขึ้น พร้อมเตรียมต่อยอดโมเดล “Farm School” ไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยเน้นย้ำเรื่องกระบวนการหมุนเวียนกาแฟแบบยั่งยืน โดยบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุดิบกับการรับซื้อในราคาเป็นธรรมเพื่อสร้างวงจรเชิงบวก ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในการสร้างความกินดีมีสุขอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย”
“หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ผลผลิตในไร่ของผมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ได้รับความรู้และความเข้าใจในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ทั้งในด้านการวิเคราะห์ดินก่อนเพาะปลูก การใช้ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดิน และการทดลองปลูกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดและมีคุณภาพสูง โครงการนี้ยังช่วยให้ไร่มันสำปะหลังในอำเภอคลองขลุงปลอดจากโรคใบด่าง 100% เลยครับ” ผู้ใหญ่บ้านธานิน สุราเลิศ ผู้นำกลุ่มเกษตรกร หมู่บ้านหัวชะโงก ตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าว