ข้อมูลจาก ESG Data Platform ระบุ บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพิ่มมากขึ้น 30% (ปี 2023 เทียบ 2022) พร้อมปล่อย GHG ลดลง 6% สอดคล้องกับปริมาณการใช้ไฟสุทธิที่ลดลง แม้ภาพรวมการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยพบว่า บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ในปี 2023 ทั้งหมด 884 บริษัท มีบริษัทที่รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 445 บริษัท (คิดเป็น 50.3% ของบริษัททั้งหมด) เพิ่มขึ้นจาก 342 ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้น 30% ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบเพิ่มขึ้น 47% จาก 182 บริษัท ในปี 2022 เพิ่มเป็น 267 บริษัท ในช่วงสิ้นปี 2023
ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รายงานผ่านระบบ ESG Data Platform จากปี 2023 อยู่ที่ 634 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ลดลงจากที่รายงานมาในปี 2022 ที่ 675 ล้านตัน CO2e หรือลดลง 6.1% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มบริการ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณการปล่อย GHG ยังสัมพันธ์กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย โดย บจ. ที่เปิดเผยข้อมูลการใช้ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2023 แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมในปี 2023 กลับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณการปล่อย GHG ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายระดับประเทศ ที่ต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 ตามที่ประกาศไว้ใน COP 26 พร้อมวางโรดแม็พจนถึงปี 2030 ที่ต้องลด GHG Emission โดยรวมลงอีก 115.6 ล้านตัน CO2e จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ การลดการปล่อยคาร์บอนของภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท
ดังนั้น บริษัทควรตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เข้มงวด และดึงดูดนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
อย่างไรก็ดี บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นคิดเป็น 24% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และมีส่วนต่างระหว่าง เป้าหมายการปล่อยและปริมาณการปล่อย GHG จริงในปี 2023 อยู่ที่ 2.1 เท่า
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทที่มีการตั้งเป้าควบคุมการปล่อย GHG มากที่สุดได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี คิดเป็น 41% ของจำนวนบริษัทในกลุ่ม และหากพิจารณาส่วนต่างระหว่างเป้าหมายและปริมาณการปล่อย GHG ในปี 2023 ของกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ที่ 0.9% เท่านั้น
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูงอย่างเช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มบริการ มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นค่อนข้างท้าทาย แสดงให้เห็นว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวตระหนักถึงความสำคัญ และจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนงานการติดตามความคืบหน้าที่ชัดเจนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ