พลิกฟื้นโมเดลชุมชนแออัด สู่ชุมชนเมืองต้นแบบบึงบางซื่อ“บ้านในฝัน”

“น่าจะมีบ้านที่ดีกว่านี้อยู่ เป็นบ้านที่มั่นคง และเมื่อชาวบ้านร่วมมือแล้วคิด มองโลกไปในทางเดียวกัน ร่วมกันระดมความคิดด้วยพลังประชารัฐ ในที่สุดนี่บ้านของเรานะ ทะเบียนบ้านเป็นของเรา เราเป็นเจ้าบ้าน มันถือว่าเป็นสุดยอดของเราในระดับคนรากหญ้าอย่างเรา”

ความต้องการข้างต้น เป็นกรณีศึกษาได้เกิดขึ้นกับเอสซีจี เมื่อพื้นที่ “บึงบางซื่อ” ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอสซีจี เคยเป็นแหล่ง “ดินดำ” วัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานปูนซีเมนต์ไทย บางซื่อนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งปี 2453 พร้อมทั้งสร้างบ้านพักให้กับคนงานและครอบครัว รวมถึงพนักงานที่เฝ้าเครื่องจักรได้อยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ จึงถือกำเนิดเป็น “ชุมชนบึงบางซื่อ” ตั้งแต่ 103 ปีที่แล้ว จนกระทั่งประมาณปี 2511 เอสซีจีเลิกใช้งานบึงบางซื่อ แต่ชุมชนดั้งเดิมซึ่งเป็นครอบครัวคนเคยทำงานกับเอสซีจี ยังคงอาศัยอยู่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น พร้อมทั้งมีคนต่างถิ่นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่จำนวนมากโดยไม่มีทะเบียนบ้าน

บึงบางซื่อ จากพื้นที่ห่างไกลความเจริญจากพระนครเมื่อ 103 ปีที่แล้วที่ก่อตั้งเอสซีจี ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนเมืองอย่างสมบูรณ์
จากแหล่งดินดำ สู่ชุมชนไม่มีทะเบียนบ้าน พลิกยกระดับคุณภาพชีวิต

สิ่งที่ตามมาบริเวณบึงบางซื่อมีพื้นที่ทั้งหมด 61 ไร่ เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่53 ไร่ เป็นที่ดินขอบบึง8 ไร่อยู่ในพื้นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้าออกของตนเองสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมทั้งปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียแต่มีชุมชนอาศัยอยู่ประมาณ 250 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,300 คนแบ่งเป็น5ชุมชนหลัก คือ ชุมชนบ้านยาวชุมชนบ้านยามชุมชนบ้านสวนชุมชนบ้านโขดขาว และชุมชนริมน้ำมั่นคง

“เอสซีจีมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันบึงบางซื่อเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ที่มีบึงน้ำขนาดใหญ่ สามารถใช้เป็นแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งยังเป็นปอดและแหล่งพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ ได้ จึงต้องการมอบที่ดินผืนนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเมื่อมีโครงการสานพลังประชารัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี2559เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบึงบางซื่อเป็นหัวใจสำคัญ”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจีขยายความต่อว่าเอสซีจีเห็นถึงความยากลำบากในการดำรงชีวิตของชุมชน จึงมีความประสงค์จะคืนประโยชน์ให้สังคม ด้วยการมอบที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนของประชาชนทั่วไปโดยเป็นการทำงานผ่านกระบวนการ “สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน” เอสซีจีจึงเสนอแผนพัฒนาบึงบางซื่อกับทางรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลให้ความเห็นชอบโครงการโดยแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสานพลังประชารัฐ การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ ที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสนับสนุนประสานการดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ “สานพลังประชารัฐ พัฒนาบึงบางซื่อ” ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและรัฐ
ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการพลิก

เมื่อถามเด็กๆ ตัวแทนในชุมชนว่า “หากคิดถึงบ้านในฝัน อยากให้เป็นอย่างไร” ส้มจีน อาม มู่หลาน ดุ๊ยดุ่ย ปริม ตอบว่า “อยากมีห้องสมุด อยากจะมีประตูเลื่อน อยากจะมีเตียงนอน อยากจะมีตู้เสื้อผ้า อยากจะมีที่วางรองเท้า มีห้องคุณหมอ ห้องส่วนตัว ไม่อยากให้พ่อแม่ไปทำงานไกลให้อยู่ใกล้ชิด”

ความต้องการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการร่วมกันคิด ออกแบบตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อบ้านที่ดีกว่านี้ เป็นบ้านที่มั่นคง

ในกระบวนทำงานด้านชุมชน เอสซีจีได้ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการระดมความคิด ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้ดีขึ้นเพื่อให้วิถีชีวิตของผู้ใหญ่รวมเด็กๆ เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รวมถึงเรื่องอาชีพเช่นเพาะเห็ด จับปลาที่ช่วยสร้างรายได้ และสอนให้เด็กๆ ในชุมชนรู้จักการออมเงินทีละเล็กทีละน้อยทุกวัน เป็นต้น

รูปแบบการทำงานจึงเริ่มจาก วาดอนาคตร่วมกันเมื่อเจ้าของที่ดินบึงบางซื่อคือเอสซีจีต้องการส่งมอบคืนที่ดินผืนนี้ให้ชุมชน และสังคมก็ได้ประโยชน์ ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตในชุมชน ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะชี้แจงอย่างชัดเจนผ่านประธานกลุ่มแกนนำและสหกรณ์ชุมชน ลงพื้นที่ชี้แจงเป็นรายกลุ่ม มีบอร์ดนโยบายในพื้นที่ชุมชน จากนั้น สร้างฝันให้เป็นจริง “กระตุ้นให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการออมทรัพย์” ออมอย่างสม่ำเสมอ ทำบัญชีการออม เลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์แต่ละกลุ่ม

สิ่งที่ตามมาคือ ได้ทั้งบ้าน และวิถีชีวิตมาจากการสำรวจสถานะจำนวนคนในแต่ละครัวเรือน อาชีพ รายได้ ความสัมพันธ์ครอบครัวความเป็นอยู่ของชุมชนก่อนการพัฒนา หาความต้องการพื้นที่ใช้สอยในครัวเรือนของแต่ละละครอบครัว โดยออกแบบที่อยู่อาศัยภายใต้ข้อจำกัดของเนื้อที่เป็นส่วนผสมของอาคารสูง และอาคารพื้นราบ รองรับได้ทุกครอบครัว มีส่วนกลางเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งการวางผังที่อยู่อาศัยจะคำนึงความเป็นธรรมในเรื่องทำเล อาชีพ ข้อจำกัดส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งในชุมชน แล้วเปิดโลกทัศน์ให้ไปศึกษาดูงานที่พักอาศัยชุมชนอื่นๆ ทั้งบ้านพื้นราบและอาคารสูง รวมทั้งการบริหารชุมชน สุดท้ายรูปแบบการทำงานก็เดินทางมาถึง การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน พัฒนากลุ่มอาชีพโดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บึงน้ำสาธารณะ คือต้นทางของอาชีพ จัดกลุ่มอาชีพตามความถนัด และสอดคล้องกับลูกค้า งานบริการของบึงน้ำสาธารณะ เพื่อพัฒนาสร้างความยั่งยืนชุมชน โดยกลุ่มสหกรรณ์ กลุ่มวิชาชีพ และกลุ่มสังคมต่างๆ

โมเดลชุมชนที่จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการเสร็จเรียบร้อย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

แผนการพัฒนาแบ่งเป็น2 ส่วนคือ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน และการพัฒนาบึงน้ำสาธารณะโดยการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน จะก่อสร้างที่พักอาศัยทั้งสิ้น 197ยูนิต เป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ 60ยูนิต อาคารชุดพักอาศัย 4 ชั้น 3 อาคาร133ยูนิตและบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีรายได้ อีก 4 ยูนิตจัดพื้นที่ส่วนกลางสำหรับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง คาดว่าในส่วนของที่พักอาศัยจะแล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นจึงจะพัฒนาบึงน้ำสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปโดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 600ล้านบาท

ชุมชนพลิกมีทัศนคติทีดี เป้าหมายอยู่ไม่ไกล

ด้วยกระบวนการทำงานของเอสซีจีสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ ส่งผลให้ชุมชนเห็นถึงอนาคตเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเห็นโอกาสของการทำอาชีพจากบึงน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ชัดเจนเปิดเผยโปร่งใสสื่อสารอย่างทั่วถึงภายในชุมชนบึงบางซื่อ และลดโอกาสที่จะมีข้อขัดแย้งจากการเรียกร้องสิทธิ์ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ชุมชนมีอาชีพ และรายได้จากงานในพื้นที่ มีความเข้มแข็งของกลุ่มจากรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ส่งผลให้สภาพและบรรยากาศยกระดับเป็นชุมชนชั้นกลาง โดยมาจากความร่วมมือของ

– สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน

-สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน 200 ล้านบาท ช่วยเติมเต็มให้ชุมชนได้บ้านที่เสร็จสมบูรณ์ มีสวนและพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน

-การรถไฟแห่งประเทศไทย อนุญาตให้เช่าใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก

-สำนักงานเขตจตุจักร อนุญาตการก่อสร้างในพื้นที่

-สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้กับชุมชน

-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนการปรับปรุงสะพานปากทางถนนเข้า-ออก

-กรุงเทพมหานคร แสดงเจตนารมณ์ร่วมพัฒนาบึงน้ำสวนสาธารณะ

-กรมธนารักษ์ รับมอบและดูแลที่ดินจากเอสซีจีซึ่งจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงต่อชุมชนสืบไป

ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานสำคัญของภาครัฐ 8 แห่ง ส่งมอบการสนับสนุนชุมชนเมืองต้นแบบบึงบางซื่อให้ตัวแทนชุมชน และรับมอบที่ดิน-บึงน้ำสาธารณะเพื่อดูแล

รุ่งโรจน์ได้กล่าวถึงโครงการนี้ มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน 4 ด้านประกอบด้วย

1. “ต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ”ที่ขับเคลื่อนโดยพลังประชารัฐอย่างแท้จริง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน

2. “ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง”ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากที่ดินใจกลางเมืองที่มีราคาสูง ออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางโดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดโอกาสความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่เช่น สนามเด็กเล่น ลานอเนกประสงค์ พื้นที่สีเขียว รวมทั้งสร้างบ้านกลางให้ผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยเพียงลำพัง มีปัญหาสุขภาพและไม่สามารถผ่อนสินเชื่อได้

3. “ต้นแบบการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย” ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในทุกขั้นตอน รักษาความผูกพันในชุมชน รวมทั้งบริหารจัดการการอยู่อาศัยในอนาคตเมื่อทุกคนเข้ามาร่วมกันกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการออมทรัพย์ เพื่อให้สามารถขอสินเชื่อจาก พอช. ในการสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง และในช่วงเวลา 1 ปี 8 เดือน ชุมชนออมได้แล้วกว่า 6 ล้านบาท

4. “ต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ” เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบึงน้ำ สามารถพัฒนาเป็นแก้มลิงของกรุงเทพฯ ช่วยแก้น้ำท่วม ทั้งยังสามารถพัฒนาให้เป็นบึงน้ำสวนสาธารณะที่มีความร่มรื่น สวยงาม เหมาะเป็นสถานที่ออกกำลังกายแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

ภายในบ้านที่ชุมชนต้องการ คือการได้มีพื้นที่แบ่งเป็นสัดส่วนในการสอย
“สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เราเหมือนมีตัวตน มีศักดิ์ศรีในสังคม ได้รับสิทธิ์ที่ชาวบ้านไม่เคยมีมาก่อนได้มีทะเบียนบ้าน มีน้ำ มีไฟฟ้าเป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่โชคดีสำหรับคนที่ไม่เคยมีอะไรมาเลย เราได้มันเกินกว่าที่ฝันไปมาก ทั้งถนนหนทางที่จะดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น คนในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญกับการออมเงินร่วมกันมากขึ้น มีความสามัคคี มาช่วยกันคิด แสดงความคิดเห็น เพื่อพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น”

ณิชกรานต์ ผกานนท์ ที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด และมานะ เพ็งคาสุคันโธ กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ริมน้ำมั่นคง กล่าวถึงความรู้สึที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ชลธร ดำรงศักดิ์ ผู้จัดการโครงการสานพลังประชารัฐ การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ ณิชกรานต์ ผกานนท์ ที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด และ มานะ เพ็งคาสุคันโธ กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ริมน้ำมั่นคง แม่เหล็กสำคัญในการพลิกฟื้นโมเดลชุมชนแออัด สู่ชุมชนเมืองต้นแบบบึงบางซื่อ“บ้านในฝัน”

ความมุ่งมั่นพัฒนาบึงบางซื่อ เป็นต้นแบบโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างเอสซีจี และชุมชน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และอาชีพ เพื่อพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงสำหรับชุมชนในพื้นที่ และบึงน้ำสาธารณะประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไป

ข่าวเกี่ยวข้อง SCG PASSION FOR BETTER

Stay Connected
Latest News