ดีลอยท์เผย อินไซต์ ‘เจนซี-มิลเลนเนียล’ ประเทศไทย หวังน้อยลง เครียดน้อยลง แต่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก  

เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย มีความเครียดและความกังวล​เรื่องต่างๆ น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยค่าครองชีพเป็นต้นเหตุของความกังวลอันดับ 1 ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจและสังคม คนไทยทั้งสองกลุ่มมีความคาดหวังจากภาครัฐและภาคเอกชนลดลง แต่หันมาเชื่อในพลังของตนเองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน ต้องการทำงานที่ตรงตามความมุ่งหมาย (Purpose) ของตน โดยเลือกที่จะอยู่กับองค์กรที่เห็นคุณค่าตรงกัน และเลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่ขัดกับคุณค่า ของตัวเอง

ส่วน​ด้านสิ่งแวดล้อมคนไทยทั้งสองกลุ่ม มีความกังวลสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ และพร้อมใจ​มีส่วนผลักดันในเรื่องนี้ ทั้ง​ผลักดันองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ รวมถึงยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น ​

สำหรับมุมมอง​ด้านการทำงาน ​จะเลือกองค์กรที่ตอบโจทย์สมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work / life Balance) มีโอกาสเรียนรู้ และเป็นงานที่มีความหมาย อย่างไรก็ดี โดยภาพรวม คนไทยทั้งสองกลุ่มเห็นว่านายจ้างใส่ใจความรู้สึก และมีความเห็นอกเห็นใจลูกจ้างมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลชาวไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจ Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13 ​สำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล จำนวน 22,841 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก

โดยมีคนไทยที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน แบ่งเป็น เจนซี 201 คน และ มิลเลนเนียลชาวไทย จำนวน 100 คน ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกของคนไทยในทั้งสองเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ดังต่อไปนี้

ด้านสุขภาพจิต และ ความกังวลหลัก

​ผล​สำรวจปีนี้พบว่า 3 อันดับแรก เรื่องที่เจนซีมีกังวลมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ (​37%) การว่างงาน (36%) และความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (21%)  ส่วน​มิลเลนเนียลกังวลเรื่องค่าครองชีพ (37%) การความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง ( 26%) และ ความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก (24%)

นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีในประเทศไทย 42% และ มิลเลนเนียล 60% รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบัน เทียบกับปี 2566 โดยทั้งสองกลุ่ม ระบุว่ามีความเครียดน้อยลง ผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีที่บอกว่ารู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ลดลงจาก​ 51% เหลือ 40% และมิลเลนเนียล ลดลงเล็กน้อยจาก 39% เหลือ 38% เหตุผลที่สร้างความเครียดได้แก่ การเงินในอนาคต การเงินในชีวิตประจำวัน และ งาน

ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกับสุขภาพจิตของคนไทย

ความคาดหวังของเจนซีและมิลเลนเนียลไทยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลง เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยความคาดหวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ของเจนซี ลดลงจาก 27% เหลือ 15% และ มิลเลนเนียล ลดลงจาก 26% เหลือ 22% ความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง เจนซี ลดลงจาก 37% เหลือ 19% และ มิลเลนเนียล ลดลงจาก 38% เหลือ 33% รวมทั้งความคาดหวังต่อสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจ/การเมืองของเจนซี ลดลงจาก 27% เหลือ 15% และมิลเลนเนียล ลดลงจาก 24% เหลือ 23%

ผลสำรวจพบว่า เจนซี 42% และ​มิลเลนเนียล 45% เชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่​ 49% และ 47% ตามลำดับ คนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่าภาคธุรกิจควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน ให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และสร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะไม่มาซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย 81% และ 92% ตามลำดับ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ 62% และ 59% ตามลำดับ

รวมทั้งยังพบว่า เจนซี 90% และ มิลเลนเนียล 91% มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

นอกจากนี้ เจนซี 92% และ มิลเลนเนียล 93% ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ ทานมังสะวิรัติ หรือ วีแกน (Vegan) และ เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจัยด้านการทำงาน

คนรุ่นใหม่ไทยมีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกพนักงาน โดย 96% ของ เจนซีในประเทศไทย และ 99% ของมิลเลนเนียล มองว่าเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ที่ดี ​สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกที่ 86% และ 89% ตามลำดับ

โดยเจนซีในประเทศไทย 91% และ​มิลเลนเนียล 93% บอกว่างานปัจจุบันทำให้ตนเองรู้สึกถึงความมุ่งหมาย (Purpose) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เจนซี 55% และ​มิลเลนเนียล 60% ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง

ขณะที่เจนซี 55% และมิลเลนเนียล 57% ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และ เป็นงานที่มีความหมาย

สำหรับภาพรวม เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยเห็นว่านายจ้างมีความใส่ใจต่อพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

โดยเจนซี​ 70% และ 74% ตอบว่านายจ้างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน

เจนซี 77% และมิลเลนเนียล 76% ตอบว่ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้จัดการอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ

เจนซี  73% และมิลเลนเนียล 68% บอกว่าหัวหน้างานรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการพูดคุยสื่อสารเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งคำตอบของเจนซีและมิลเลนเนียลคนไทยทั้งสองกลุ่ม  สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 52% และ 59% ตามลำดับ

“ดีลอยท์ติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งสองเจนเนอเรชั่นทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราอยากทราบพัฒนาการทางความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ และ ความเข้าใจกันระหว่างคนในวัยต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น” คุณอริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว

คุณมานิตา ลิ่มสกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Human Capital ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “อยากจะขอเน้นย้ำว่าเรื่องการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี หรือ Mental Well-being เป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล คือ แรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในวันนี้ องค์กรที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลคนรุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้อง จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ”

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ผลการสำรวจมีความน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของคนไทยที่มีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกในในหลายแง่มุม ถ้ามองให้ละเอียดกว่านั้น จะเห็นถึงความแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนอีกด้วย”

Stay Connected
Latest News