SET นำร่อง 20 บริษัท 8 อุตสาหกรรม ใช้ ‘เครื่องคิดเลขคาร์บอน’ เร่งเก็บฟีดแบ็ค ก่อนพัฒนาเวอร์ชั่น​สมบูรณ์​ ก่อนเปิดกว้าง​ บจ. ใช้ฟรี ภายในปลายปีนี้

หลังมีแผนพัฒนาเครื่องมือคำนวนคาร์บอน หรือ  Carbon Calulator เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานกลางในการหาคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอนขององค์กร ​ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET​ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบแล้วเสร็จ และได้นำร่องให้ 20 บริษัท จากทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้ทดลองนำไปใช้แล้ว

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร​ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร SET เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาเวอร์ชั่นต้นแบบเครื่องคิดเลขคาร์บอน ซึ่งได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก.​ ในการรับรองสูตรที่นำมาใช้ในการคำนวณเพื่อหา Carbon Emission ขององค์กรต่างๆ โดยได้แยกย่อยแพลตฟอร์มออกเป็น 8 กลุ่ม​ ตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) กลุ่มทรัพยากร (RESOURC) กลุ่มธุรกิจการเงิน (FINCIAL) กลุ่มบริการ (SERVICE) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) และกลุ่มเทคโนโลยี (TECH)

ทั้งนี้ ได้คัดเลือกบริษัทนำร่องรวม 20 ราย เพื่อร่วม​ทดลองการนำแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณหาการปลดปล่อยคาร์บอนภายในองค์กร รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานต่างๆ เพื่อ​ประเมินผลต่อยอดในการพัฒนาเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนนำไปให้ บจ. ในตลาดที่มีกว่า 840 ราย นำไปใช้ประโยชน์ ​รวมทั้งการเปิดเป็น Open Platform ในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ​​ซัพพลายเชนในธุรกิจรายใหญ่ที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับ Carbon Risk  ที่ได้กลายมาเป็นกฎกณฑ์สำคัญของการทำธุรกิจจากนี้ไป

เป้าหมายของ SET ต้องการพัฒนาเครื่องคิดเลขคาร์บอนเพื่อสร้าง​ Standard Calculator ช่วยอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดต้นทุนและกระบวนการในการคำนวณ Carbon Emission ​ซึ่งในแต่ละปีจะมีค่าใช้จ่ายหลักหลายแสนบาท แต่การมี​แพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ หรือ​นำไปต่อยอดให้มีความ​​ Customize ที่เหมาะกับแต่ละธุรกิจจะทำให้ช่วยลดขั้นตอน และสามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการทวนสอบ เพื่อรับการรับรอง (Verify) ได้อย่างถูกต้อง เพื่อความสะดวกและประหยัดต้นทุนมากขึ้น เนื่องจาก ยังต้องมีกระบวนการในการทวนสอบเพื่อ Verify ข้อมูลที่คำนวณได้ หรือในบางบริษัท อาจยังต้อง​มีค่าใช้จ่ายด้าน Advisory Service เพื่อช่วยวางแนวทางหรือกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกหลายส่วน”

ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางของ SET จะช่วยเพิ่มจำนวน ​บจ.​ ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากข้อมูลช่วงปลายเดือน พ.ค. 2567 มี บจ. เพียงเกือบครึ่งหนึ่ง (48.56%) หรือ 406 บริษัท จาก 836 บริษัท ที่สามารถรายงานการปลดปล่อยได้ และ 31.82%​ หรือ 266 บริษัท​ ที่สามารถ Verify ข้อมูลได้​ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

เร่งสร้าง Awareness รับมือความเสี่ยงใหม่ๆ

นอกจากประเด็น Carbon Risk ที่ขยับจากประเด็น New Frontier มาเป็น Main Stream ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญแล้ว การที่ภาคธุรกิจจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนได้ จำเป็นต้องเท่าทันต่อการส่งสัญญาณของความเสี่ยงใหม่ๆ ทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม และประเด็นสังคมที่ ที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้ ​เรื่อง​ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในหลายประเทศเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นแล้ว

อีกหนึ่งหน้าทีสำคัญของ SET คือ การพยายามส่งสัญญาณเพื่อสร้าง Awareness และให้ความรู้พื้นฐานต่อความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะเข้ามากระทบการทำธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจเตรียมรับมือและปรับตัวได้ทัน รวมทั้งมีการพูดคุยและติดตามความเคลื่อนไหวภายใน Ecosystem เพื่อเร่งพัฒนามาสู่การมีกรอบในการขับเคลื่อน หรือแนวทางปฏิบัติให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นความท้าทายในการเชื่อมโยงการดำเนินงานของภาคธุรกิจเข้ากับ Impact ด้านความหลากหลายทางชีวภาพหรือประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการชี้วัด ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อนำปัจจัยต่างๆ มาใช้ในการชี้วัดได้เช่นเดียวกับเรื่องของคาร์บอนทั้ง 3 สโคป ซึ่ง​เชื่อว่าจะมีความชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้” 

ทั้งนี้  การให้ความสำคัญ ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ต่อปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ การพัฒนาองค์ความรู้ หรือการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการเตรียมความพร้อมให้ทั้งบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน รวมทั้งบุคลากรในตลาดทุนไทย​ สำหรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นด้านความยั่งยืนที่กลายเป็น New Norm ของการทำธุรกิจในอนาคต และยังเป็นประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามบริบทในสังคม  ซึ่งอาจะเป็นความเสี่ยงใหม่ๆ ให้ภาคธุรกิจได้อยู่เสมอ

เช่นเดียวพัฒนาการด้านความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตลาดทุนไทยมาตลอด 50 ปี ตั้งแต่ความตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นำมาสู่การให้ความสำคัญต่อประเด็น Corpoarte Governance และขยับมาสู่การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) จนมาถึงปัจจุบันที่มีการขยายกรอบให้มากกว่าแค่เรื่องของธุรกิจ สู่การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG (Environment, Social, Governance) ตามความกังวลต่อประเด็นเรื่อง Climate Chnage ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก และกลายเป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าอีกหนึ่งรูปแบบในการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้วางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG Strategy ผ่าน 4 แนวทาง ต่อไปนี้

– ESG In Action : ส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่าน Advisory Programs พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ เช่น Guidelines และ Manuals ต่างๆ

– ESG Investment : ส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนอย่างยั่งยืนในตลาดทุน และพัฒนา ESG Products ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน

– ESG Tech and Infrastructure : พัฒนาระบบงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศ​ ESG เช่น ระบบ SET ESG Data Platform

– ESG Academy : ร่วมมือพันธมิตรเพื่อขยายความรู้และหลักสูตรด้าน ESG ในวงกว้าง พร้อมบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG สู่ตลาดทุน

 

Stay Connected
Latest News