เมื่อโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อน และเต็มไปด้วยการแข่งขันมากยิ่งขึ้น องค์ความรู้ที่เคยส่งต่อกันมาในอดีตหลายๆ เรื่อง อาจไม่ตอบโจทย์ทั้งการใช้ชีวิต รวมทั้งบริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
ขณะที่ระบบหรือหลักสูตรการศึกษา ก็ไม่สามารถปรับแก้ให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างอิสระ รูปแบบการเรียนรู้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง เพื่อให้ผู้เรียนยังคงมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในปัจจุบัน รวมทั้งการต่อยอดสู่อนาคต
ร.ศ. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายในหัวข้อ ‘มุมมองต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน สู่เส้นทางอาชีพ’ จากโครงการ “Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ต 2024” ความร่วมมือระหว่าง Garena และ Saturday School ฉายภาพแนวทางในการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะการปรับวิธีการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย จากการเรียนตามระบบการศึกษาแบบเดิม มาเป็นการเรียนรู้และหมั่นเติมทักษะเพื่อต่อยอดให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ผ่านการปรับเปลี่ยนโฟกัสหรือกฏเกณฑ์ ใน 10 เรื่องต่อไปนี้
1. Emergence สำคัญกว่า Authority : แหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยความรู้ที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต บริบทสังคม หรือเพิ่มทักษะที่จำเป็นได้ตรงจุดมากกว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลงานด้านการศึกษาดั้งเดิม เช่น กระทรวงศึกษา หรือสถาบันการศึกษา เพราะปัจจุบันมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาให้เราได้เรียนรู้ โดยเฉพาะทักษะด้านอาชีพใหม่ๆ ที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่งความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ หรือการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากแหล่งเรียนรู้ทั่วๆ ไป
2. Pull สำคัญกว่า Push : ความรู้แบบ Push หรือสิ่งที่คนอื่นจัดเตรียมไว้ให้อาจจะไม่ได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนจริงๆ ขณะที่ Knowledge หรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่เราสนใจอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน หรือในห้องสมุด ซึ่งเราสามารถไปเสาะแสวงหาได้เองจากโลกภายนอก และมีให้เรียนรู้ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งโลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกของ Pull Strategy คนเปลี่ยนจากการซื้อของจากแค่บนเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต มาเป็นการหาตัวเลือกที่ต้องการจริงๆ ผ่านออนไลน์ หรือแม้แต่ Entertainment ที่ไม่จำเป็นต้องดูหนังจากในโรงตามรอบที่ผู้ฉายกำหนดมาเป็นการเลือกดูจากระบบสตรีมมิ่งได้แบบ Anywhere Anytime
3. Compasses สำคัญกว่า Map : การเลือกเดินตามเข็มทิศดีกว่าการเดินตามแผนที่ เพราะเส้นทางตามแผนที่จะล้าสมัยได้ง่าย แต่การดูเข็มทิศจะทำให้ทราบทิศทางในชีวิต และมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากกว่าการยึดติดตามเส้นทาง เหมือนการตั้งเป้าว่าเรียนจบแล้วต้องเป็นในสิ่งที่เรียนมา ทำให้ไม่สามารถปรับตัวหรือปรับปเปลี่ยน แต่ควรเรียนเพื่อเข้าใจในทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และสามารถต่อยอดทักษะที่มีไปในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องได้
4. Risk สำคัญกว่า Safety : โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความเสี่ยง จึงควรเข้าใจและรู้ทันความเสี่ยง มากกว่าจะมองแค่เส้นทางที่ปลอดภัย เพื่อสามารถปรับตัวให้พร้อมที่จะรองรับต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน และรอดได้จากทุกความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และช่วยเพิ่มความรอบคอบ ซึ่งจะนำมาซึ่งความปลอดภัยได้ในที่สุด
5. Disobedience สำคัญกว่า Compliance : หรือการมองนอกกรอบ สำคัญกว่าการยึดติดในกฏระเบียบ เพราะทุกนวัตกรรม ล้วนเกิดขึ้นจากการคิดนอกกรอบ ทำนอกกรอบ จึงควรสามารถต่อยอดพลิกแพลง ที่แตกต่างจากกฏระเบียบกำหนด แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญกับความรอบคอบและมองปัญหาอย่างรอบด้าน
6. Practice สำคัญกว่า Theory : การหมั่นฝึกฝนปฏิบัติจนมีความชำนาญ สำคัญมากกว่าแค่ความรู้ทางทฤษฎี เพื่อไม่ให้เกิดกรณี ‘ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ โดยเฉพาะการเรียนรู้ทักษะแขนงใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ จนมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ เป็นสิ่งสำคัญมาก
7. Diversity สำคัญกว่า Ability : ความหลากหลายมีความสำคัญมากกว่าความสามารถ เพราะโลกปัจจุบันไม่สามารถเก่งแค่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยหลายทักษะมาผสม เช่น การเก่งทั้งเรื่องทางวิชาการ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ รวมทั้งการมีระเบียบวินัย รับผิดชอบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนหน้าที่ให้สำเร็จได้ในที่สุด
8. Resilience สำคัญกว่า Strength : ความสามารถในการปรับตัว สำคัญกว่าความแข็งแกร่ง ไม่ต่างจากสัตว์หลายๆ ชนิด ที่แม้จะแข็งแรงแต่สุดท้ายก็ต้องสูญพันธุ์ไปเพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้น การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน จึงต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในที่สุด
9. Systems สำคัญกว่า Objects : ระบบที่ดีสำคัญกว่าวัตถุประสงค์ และไม่ควรยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากเกินไป แต่ให้เรียนรู้กับระบบที่อยู่โดยรอบ เช่น การไม่ยึดติดกับอาชีพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ให้เรียนรู้ถึงทักษะที่มีว่าสามารถเชื่อมโยงต่อยอดไปสู่สาขาอาชีพใดได้บ้าง และหมั่นพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพทักษะต่างๆ ที่มี เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดและเติบโตได้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เราอยู่รอดได้แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออาชีพที่เราเป็นอยู่ เช่น ไม่ต้องสนใจว่าเราขายอะไร แต่ให้หมั่นฝึกทักษะการขายที่มีอยู่ในตัว เพื่อสามารถปรับตัวและขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทดแทนได้ในอนาคต
10. Learning สำคัญกว่า Education : การเรียนรู้สำคัญกว่าการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่มีคนจัดเตรียมไว้ให้เราเพื่อเป็นการช่วยปูพื้นฐานเท่านั้น ขณะที่ Learning เป็นการเรียนรู้ที่เราเลือกเองได้ในอนาคต และจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น เพราะจะช่วยให้สามารถต่อยอดและปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตใหม่ๆ ได้อยางไม่มีข้อจำกัด