ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกเรื่อง Anti-bullying หรือการต่อต้านการกลั่นแกล้ง รังแก หรือด้อยค่ากันในสังคมไทย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนผ่านกลุ่ม ‘การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน’ เนื่องจากหนึ่งกลุ่มสินค้าหลักของแบรนด์ ‘นันยาง‘ คือ รองเท้าผ้าใบนักเรียน ที่มีสัดส่วนถึง 70% ของพอร์ตรองเท้าผ้าใบทั้งหมด พร้อมรั้งตำแหน่งผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 45% จากมูลค่าตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนที่มีกว่า 5 พันล้านบาท
ในฐานะส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนสามารถผลักดันมาตรฐานใหม่ในสังคมไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการตระหนักรู้ถึงความหมายของคำว่า ‘Bully‘ ซึ่งคนไทยในปัจจุบันเข้าใจคำนี้ได้มากขึ้นว่าหมายถึงอะไร พร้อมทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติ หรือแนวคิดที่มีต่อการ Bully หรือการกลั่นแกล้งรังแกกันของคนในสังคม ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนในสังคมพึงปฏิบัติต่อกัน
ขณะที่การเข้ามาขับเคลื่อนปัญหาเรื่องนี้มาตลอด 3 ปี ทำให้นันยางรับทราบถึงสถานการณ์ด้านการ Bully ภายในโรงเรียนว่า แท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียง ‘ปลายเหตุ’ เป็นหนึ่งในรูปแบบของการแสดงออก จากปัญหาหลักที่มักเริ่มจาก ‘บูลลี่ตัวเอง’ หรือ Self-bully ทั้งจากการกดดันตัวเอง สร้างคาดหวังในตัวเองมากเกินไป ทำให้หลายคนใจดีกับตัวเองน้อยลง กลายเป็นรากลึกของปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง นำมาซึ่งการยกระดับเพื่อขับเคลื่อนจักรวาลการบูลลี่ในโรงเรียนของนันยางในปีที่ 3 ผ่านแคมเปญ ‘พอดีไม่เหมือนกัน‘ เพื่อชวนให้ทุกคนหันมา ‘เติมความใจดีให้ตัวเอง’ และสามารถขยายผลการแก้ไขจากรากลึกของปัญหาได้มากขึ้น
‘พอดีไม่เหมือนกัน’ ชวนเติมความ ‘ใจดี’ ให้ตัวเอง
ดร.จักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีตัวเลขแต่ละปีสูงราว 6 แสนคนต่อปี โดย 92% เคยถูกบูลลี่ และ 1 ใน 4 หรือ 25% ถูกบูลลี่เป็นประจำ ราว 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
ขณะที่สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของเยาวชนไทย ช่วงปี 2563-2567 พบว่า มีความเครียดสูง 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% และถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยอื่นๆ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า และยังพบว่าปัจจัยเรื่องความภาคภูมิใจในตัวเองมีความสัมพันธ์ต่อระดับความเครียดของเยาวชนด้วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งวาระเร่งด่วนที่หลายฝ่ายควรตระหนักและเข้ามาช่วยแก้ไข
“ในฐานะที่แบรนด์นันยางมีความใกล้ชิดและตระหนักต่อปัญหาของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรณรงค์ปัญหาเพื่อยุติการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของเยาวชน ทั้งการออก Anti-bully Edition เพื่อให้รุ่นพี่เลิกรังแก และหันมาดูแลรุ่นน้อง รวมทั้งแคมเปญ Bully No More เพื่อยุติการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน และในปีนี้ได้ยกระดับแนวทางในการแก้ปัญหาผ่านแคมเปญ ‘พอดีไม่เหมือนกัน’ เพื่อยุติการสร้างแรงกดดัน และความคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป หรือนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ทำให้บั่นทอนศักยภาพการใช้ชีวิต โดยมุ่งหวังจะเติมความใจดี และสร้างพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่พึ่งทางความคิดของเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี เพื่อสามารถลงลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้มากขึ้น พร้อมทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจาก Self-bully เป็นปัญหาที่มองไม่เห็นด้วยตาเพราะเกิดขึ้นภายในจิตใจ และวัยรุ่นมักไม่รู้ตัวว่ากำลังเกิดความคิดและพฤติกรรมที่บั่นทอนศักยภาพการใช้ชีวิตของตนเอง ขณะที่ผู้ใหญ่และคนรอบข้าก็ไม่ทันได้สังเกตเห็นหรือรับฟัง แคมเปญนี้จึงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนที่กำลังรู้สึกแย่จากการตัดสินและตำหนิตัวเองมากเกินไปได้มีที่ปรึกษาในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว”
สอดคล้องกับ คุณกันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้ร่วมก่อตั้ง MASTERPEACE และ ผศ.ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา กรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมนำเสนอผลการสำรวจข้อมูลการเกิด Self-bully ในเด็กนักเรียนว่า การสำรวจข้อมูลจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่าวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทายด้านสุขภาพจิต เพราะเป็นวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ตัวเองส่งผลให้เกิดการกดดันตัวเอง นอกจากสังคมรอบข้างจะเรียกร้องให้เขาประสบความสำเร็จแล้ว โลกโซเชียลคืออีกปัจจัยที่มำให้เขาเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้นด้วย
“วัยรุ่นมักมีความรู้สึกกดดันตัวเองและรู้สึกว่าตัวเอง ‘ยังดีไม่พอ’ ซึ่งปรากฏการณ์นี้บอกว่าไม่ใช่แค่คุณครูหรือนักจิตวิทยาที่มีหน้าที่สื่อสารและแนะนำให้เขาหัดเป็นเพื่อนกับตัวเองได้มากขึ้น แต่ทุกคนมีส่วนในการเป็นกระบอกเสียงกับสังคมและช่วยเหลือเรื่องนี้ด้วยการเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้วัยรุ่นได้ ไม่กดดัน ทำให้เขาตระหนักรู้และเข้าใจ ว่าเขามีจังหวะค่อยๆ ไปต่อได้ เขาดีพอนะ ดีกว่ารอให้ปัญหาใจติดอยู่กับเขาจนมันบานปลายในวัยผู้ใหญ่”
จากสินค้าสู่สื่อ รักษาแชมป์ ‘แบรนด์ในใจผู้บริโภค’
สำหรับแคมเปญ ‘พอดีไม่เหมือนกัน‘ ทางนันยางได้ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเชื่อมโยงมาสู่แบรนด์ ทั้งการตั้งตู้ถ่ายภาพอินเทรนด์ เพื่อถ่ายรูปรอยเท้าตัวเองตอกย้ำถึงความพอดีที่ไม่เหมือนกันของทุกคน ที่ลิโด้ สยามสแควร์ จนถึงวันที่ 5 พ.ค. นี้ รวมไปถึงการใช้ Music Marketing ผ่านเพลง ‘พอดีไม่เหมือนกัน’ ที่มีเนื้อหาให้กำลังใจและหันกลับมาดูแลใจตัวเอง
นอกจากนี้ ยังได้ทำการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘ดูใจตน วอลเล็ต’ เติมความใจดีให้ตัวเอง ผ่านทาง www.พอดีไม่เหมือนกัน.com เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับฟัง เข้าใจ และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับการกดดันตัวเองให้กลับมาใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น สร้างความตระหนักรู้ ชวนสำรวจตัวเองผ่านแบบประเมินเพื่อช่วยคัดกรองความเสี่ยงที่จะเกิด Self-bully รวมทั้งคำแนะนำในการดูแลตัวเอง ข้อความให้กำลังใจ และสามารถกลับมาสนุกในการใช้ชีวิตในแต่ละย่างก้าว พร้อมรับมือต่ออุปสรรค ให้กำลังใจตัวเอง ไม่เหยียบย่ำตัวเอง ซึ่งสุดท้ายเมื่อทุกคนใจดีต่อตัวเอง ก็จะส่งผลความใจดีไปสู่ผู้คนรอบข้าง และช่วยให้ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในสังคมลดน้อยลงตามไปด้วย
ความคาดหวังของนันยางต่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ไม่เพียงการรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนที่แข็งแกร่งเอาไว้เท่านั้น แต่ยังต้องการเป็นกระบอกเสียงพร้อมช่วยขับเคลื่อน Positive Impact ให้เกิดขึ้นในสังคมไปพร้อมกัน ผ่านการมองภารกิจของแบรนด์ที่มากกว่าแค่การเป็นสินค้าที่ส่งมอบประโยชน์จากการใช้สินค้าให้ลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องสามารถทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลาง เป็นแพลตฟอร์มเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้คนและโลกใบนี้ในมิติต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ได้ด้วย
“ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา นันยางเน้นการขับเคลื่อนโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา และสามารถรักษาอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่ผู้บริโภคชื่นชอบไว้ได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะภาพของแบรนด์รองเท้านักเรียนผู้ชาย ที่ต้องมีความเท่ ขณะที่ ความหมายของคำว่า ‘เท่’ ในแต่ละช่วงเวลาจะแตกต่างกัน จากที่เคยมีบุคลิกซ่าๆ ห้าวๆ ต้องแกล้งเพื่อน ถึงจะดูว่าเท่ในยุคก่อนหน้า แต่เมื่อบริบทของโลกปัจจุบันเปลี่ยนไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องเท่อีกต่อไป แบรนด์ก็ต้องยอมรับต่อสิ่งที่เคยทำพลาดไว้ในอดีต พร้อมลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพื่อรักษาความเท่ของแบรนด์ในสายตากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้มองเพียงแต่ Fuctional ของแบรนด์หรือสินค้า แต่มองหา Value ของแบรนด์ และเลือกที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อผู้คนและโลกใบนี้มากขึ้น การทำตลาดของนันยางจึงไม่ได้มองเพียงแค่ส่งเสริมการขายแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะให้ความสำคัญกับการส่งมอบคุณค่าไปสู่ผู้คนและสังคม ผ่านการต่อยอดความแข็งแรงของแบรนด์ การสร้างความแตกต่าง พร้อมทั้งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและตลาดไปได้พร้อมๆ กัน เพื่อให้ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดและการเป็นแบรนด์ในใจของผู้บริโภคไว้ได้อยู่เสมอ” ดร.จักรพล กล่าวทิ้งท้าย