SHEIN ก่อตั้งขึ้นในนครหนานจิง เมื่อปี 2555 โดย มร.ซู่ หย่างเทียน ที่เคยทำธุรกิจด้านการค้าต่างประเทศ และจำหน่ายชุดแต่งงาน แว่นตา สินค้าในกลุ่มแฟชั่นไอเท็มต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางเข้ามาสู่วงการค้าปลีกแฟชั่น จนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น และแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ชั้นนำของโลก ที่มีการเติบโตได้อย่างโดดเด่น และน่าจับตา ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น
สำหรับแบรนด์ SHEIN (She-in) สะท้อนถึงกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ที่เน้นตลาดแฟชั่นสำหรับผู้หญิงเป็นหลัก โดยมีจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มาจากการนำเสนอสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ภายใต้ราคาขายที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลักๆ ในกลุ่มฟาสต์แฟชั่น ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความคุ้มค่ามากขึ้น
ข้อมูลจาก Zhongjin Research ระบุว่า SHEIN ใช้เวลาเพียง 7-15 วันในการออกแบบและเปิดตัวสินค้าใหม่ หรือมีการเสนอสินค้าใหม่มากกว่า 1 ล้านรายการทุกปี เทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาดอย่าง ZARA ที่เปิดตัวสินค้าใหม่ในแต่ละปีประมาณ 12,000 รายการ หมายความว่า อัตราการเสนอสินค้าใหม่ของ SHEIN สูงกว่า ZARA ประมาณ 100 เท่า และมีราคาจำหน่ายถูกกว่า ZARA อย่างมาก
ขณะที่ข้อเปรียบเทียบในเรื่องของคุณภาพ จากความเห็นของบรรดา KOL หรือนักรีวิวต่างๆ ที่ให้ความเห็นไว้บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ขณะที่ราคานั้นแตกต่างกันเฉลี่ยเป็นเท่าตัว
ส่วนสาเหตุที่ SHEIN สามารถออกสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากนั้น มาจากการสร้างความแตกต่างในระบบ Supply Chain หรือห่วงโซ่การผลิต ที่กระบวนการทั่วๆ ไป มักจะมี Economy of Scale ต้องมีปริมาณการสั่งซื้อในระดับที่มากพอจึงจะเริ่มทำการผลิตสินค้า แต่กลยุทธ์ของ SHEIN จะมีความแตกต่างกันออกไป เพราะจะวางปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำกับทางโรงงานที่เพียง 100-200 ชิ้นก่อน และจะทำการเช็คความนิยมของสินค้าแต่ละชิ้นจากแพลตฟอร์มแบบเรียลไทม์ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณการสั่งผลิตในขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง
ความแตกต่างในการบริหารกระบวนการผลิตและซัพพลายเชน ทำให้ SHEIN สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด พร้อมช่วยลดต้นทุนการผลิต และส่งผลต่อความสามารถในการวางราคาจำหน่ายในตลาดให้สามารถเอื้อมถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดย SHEIN ได้ร่วมมือกับโรงงานมากกว่า 3,000 แห่งในจีน ทั้งในพื้นที่นครกวางโจว เมืองฝอซาน มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้
SHEIN เติบโตและได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ จากข้อมูลของ Coresight ระบุว่า ในปี 2565 SHEIN มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 หรือราว 20% ของตลาดฟาสต์แฟชั่นทั่วโลก แซงหน้าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง H&M ที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 5% และ ZARA ที่มีประมาณ 15% ประกอบกับรายได้ของบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตามข้อมูลที่เคยระบุไว้ พบว่า SHEIN เคยเปิดเผยยอดจำหน่ายในปี 2562 ที่ทำได้มากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา มีการระบุว่า บริษัทประสบความสำเร็จด้านผลกำไรสูงสุดเท่าที่เคยดำเนินธุรกิจมา
ความสำเร็จของ SHEIN ยังทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน มังกร 4 ตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ตามมูลค่า GMV (Gross Merchandise Volume) หรือปริมาณยอดขายทั้งหมดที่สามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา SHEIN เป็นแบรนด์ที่อยู่ในอันดับสูงสุด และไม่เพียงแค่รักษาการเติบโตของรายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเข้าไปซื้อกิจการ Forever 21 แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นของอเมริกา รวมทั้ง Missguided จากอังกฤษ และยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา (2556 -2566) SHEIN สามารถรับการระดมเงินทุนได้ถึง 9 รอบ จากกลุ่มนักลงทุนรวมถึงสถาบันการลงทุนที่มีชื่อเสียง เช่น IDG Capital/Hongshan China และ Tiger Global Management และเป้าหมายสำคัญในปี 2567 นี้ SHEIN กำลังให้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสำเร็จและการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา SHEIN ต้องเผชิญกับอุปสรรคในหลากหลายด้าน เช่น ความท้าทายในการควบคุมต้นทุน การแข่งขันอย่างรุนแรงในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการมีข้อพิพาทด้านการละเมิดทั้งจากแบรนด์แฟชั่นหรือศิลปินอิสระต่างๆ โดยช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 SHEIN ถูกฟ้องในข้อหาละเมิดโดย Fast Retailing Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Uniqlo) รวมทั้งแบรนด์แฟชั่นของอเมริกา For Love & Lemons นอกจากนี้ แบรนด์ Levi’s และ Ralph Lauren ยังได้ขึ้นศาลกับ SHEIN ในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้า รวมทั้งยังกลายเป็นกระแสถูกต่อต้าน #แบนSHEIN จนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครเชิงตู กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ