ในบริบทที่ทั้งโลกตื่นตัวกับการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน มิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) จำเป็นต้องพัฒนาไปอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบ หรือ Negative Impact ที่จะเข้าไปซ้ำเติมวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญอยู่
ขณะที่การตั้งเป้าเพื่อหยุดยั้งวิกฤตโลกตามเป้าหมาย UN SDGs 2030 เริ่มมีรายงานถึงความล้มเหลวของการขับเคลื่อนในช่วงที่ผ่านมาตามกรอบเวลาที่วางไว้ และสะท้อนถึงความเร่งด่วนในการขับเคลื่อนตามเวลาที่เหลืออยู่ รวมทั้งคาดการณ์ปริมาณเม็ดเงินเพื่อขับเคลื่อนโซลูชันต่างๆ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ซึ่งต้องใช้ถึงราว 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
จากกรอบเวลา ทรัพยากร และงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้การขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ SDG Goal จำเป็นต้องมีความแม่นยำมากขึ้น การมีเครื่องมือที่ช่วยชี้วัดการขับเคลื่อนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เครือข่าย SVI (Social Value International) ที่มีสมาชิกกระจายอยู่ใน 60 ประเทศทั่วโลก ในฐานะผู้ขับเคลื่อนพัฒนามาตรฐานระดับโลก เพื่อการประเมินคุณค่าสำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI : Social Return on Investment) และบริหารจัดการผลกระทบ (Impact Management) ซึ่งในประเทศไทยขับเคลื่อนผ่านสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (SVTH : Social Value Thailand Association) เพื่อเร่งการยกระดับพัฒนา ‘ผู้ประเมินมูลค่าทางสังคม’ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ Social Impact มาเติมเต็มในระบบนิเวศให้สมบูรณ์มากยิ่งข้ึน
คุณสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ กรรมการและเลขาธิการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (SVTH : Social Value Thailand Association) กล่าวว่า ทางสมาคมฯ เร่งขยาย Social Value Community ผ่านการอบรมพร้อมการจัดสอบประเมินใบประกอบวิชาชีพผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (SVA : Social Value Associate) เพื่อเพิ่มเครือข่ายทั้งในกลุ่มผู้ตรวจรับรองและผู้ประเมินผลสัมฤทธิ์มูลค่าทางสังคม เข้ามาเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาการขับเคลื่อนทางสังคมใหัหน่วยงานต่างๆ ของไทย และช่วยผลักดันการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีบูรณาการ ภายใต้ความน่าเชื่อถือและโปร่งใสตามกรอบการขับเคลื่อนของ SVI และทางสมาคมฯ
“ปัจจุบันการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทยยังอยู่ในจุดเริ่มต้น มีผู้สอบที่สามารถตรวจรับรองและประเมินมูลค่า SROI ในประเทศไทยได้แล้วรวมกว่า 10 ราย และคาดว่าในไตรมาสต่อๆ ไปจะมีผู้เข้ามาสอบเพิ่มมากขึ้น และจะมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Impcat Analyst ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยคน จากการที่มีผู้สนใจและเข้ามาอบรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ หรือในระดับบุคคล เพื่อนำไปประเมินวางแผนการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ หรือโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อสำรวจผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน พร้อมประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนออกมาเป็นตัวเลขต่อหน่วยการลงทุน หรือ SROI ซึ่งจะชี้วัดได้ชัดเจนและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีในการนำโครงการไปเสนอต่อผู้ลงทุนหรือพันธมิตรเพื่อมาร่วมขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกัน”
นอกจากนี้ ทักษะด้านการวิเคราะห์ผลกระทบ Social Impact เพื่อประเมิน SROI ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพแห่งอนาคตที่ยังขาดแคลนและมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นในประเทศไทย ตามแนวโน้มปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ขณะที่ในตลาดผู้มีทักษะในด้านนี้ยังมีอยู่น้อยมาก โดยข้อมูล SROI จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของภาคธุรกิจในการทำงานร่วมกับ Stakeholder และแสดงความรับผิดชอบต่อพันธมิตรและผู้มีส่วนได้เสีย เพราะสามารถวัดผลกระทบอย่างเชิงลึกและรอบด้าน จากการขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ต่างๆ หรือแม้แต่การออกสินค้าหรือบริการใหม่ๆ พร้อมทั้งทราบความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ รวมทั้งมีโอกาสที่ภาครัฐอาจจะนำข้อมูลผลกระทบ SDG Impact หรือ Social Impact มาเป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องเปิดเผยรายงานก่อนจะอนุมัติดำเนินการได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทักษะในการประเมิน SROI ของประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ รวมทั้งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขับเคลื่อน ทางสมาคมฯ จึงต้อเร่งเติมเต็มระบบนิเวศให้สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งในส่วนของการเร่งประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญและประโยชน์ในการวัดผลกระทบในมิติทางสังคม รวมทั้งการเพิ่มเติมข้อมูลโครงการแต่ละประเภท เพื่อนำมาเป็น Baseline Data เพื่อทราบถึงมาตรฐานและพัฒนาการในการขับเคลื่อนของโครงการ ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญต่อ Impact Transparency เพื่อสร้างความโปร่งใสและน่าเชือถือในการประเมินและตรวจสอบให้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน