ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอาหาร (Food Industry) ทุกรายล้วนมีอาหารส่วนเกิน หรือ Surplus Food ซึ่งถือเป็นอาหารที่ยังคงมีคุณภาพดี แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ทันก่อนที่อาหารเหล่านั้นจะหมดอายุ หรือบางชิ้นที่อาจดูไม่สวยงามทำให้ไม่สามารถขายได้
การบริหารจัดการ Surplus Food ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังช่วยลดการเกิดขยะอาหาร หรือ Food Waste ไปสู่หลุมฝังกลบ ด้วยการนำอาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปส่งต่อให้ผู้ที่มีความต้องการ เช่น ชุมชนต่างๆ ที่มีรายได้ต่ำ กลุ่มเปราะบาง องค์กร หรือหน่วยงานทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนอกจากช่วยลดปริมาณขยะอาหาร ยังช่วยลด Carbon Emission เพื่อลดผลกระทบปัญหาด้านสภาพอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย
มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) หรือ เอสโอเอส ประเทศไทย (SOS Thailand) อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีภารกิจด้าน Food Rescue หรือการกู้ชีพอาหารส่วนเกินที่ได้รับการบริจาคอาหารจากพันธมิตร และนำไปส่งต่อเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงเดือนมีนาคม 2024 ที่ผ่านมา สามารถกู้ชีพอาหารได้รวมกันแล้ว 8.16 ล้านกิโลกรัม พร้อมส่งต่อมื้ออาหารไปยัง 3,600 ชุมชน รวมกันได้มากกว่า 34.29 ล้านมื้อ รวมทั้งช่วยลดการปล่อย CO2 ลง 20,658 ตันCO2e
คุณธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการแห่งประเทศไทย SOS Thailand กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้มีพันธมิตรเข้ามาร่วมมือกับทางมูลนิธิฯ เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีพันธมิตรราว 100 ราย ทั้งจากรายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ราย ทั้งใน กทม. และในอีก 3 พื้นที่ คือ เชียงใหม่, ภูเก็ต และหัวหิน รวมทั้งพันธมิตรเดิมที่เพิ่มจำนวนสาขาในแต่ละพื้นที่มาเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความร่วมมือจะมีทั้งพันธมิตรที่บริจาคต่อเนื่อง บริจาครายปี รายครึ่งปี หรือกลุ่มที่มาร่วมทำ CSR เป็นรายโปรเจ็กต์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ
ขณะเดียวกันปริมาณความต้องการอาหารในระบบก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน ทั้งกลุ่มคนที่ต้องการอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งความจริงจังในการขับเคลื่อนมาตรการ Zero Food Waste ของพันธมิตร ทำให้มูลนิธิฯ พยายามมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังเป็นรอยรั่วในการเกิดอาหารส่วนเกิน เช่น ภายในซัพพลายเชนของธุรกิจอาหาร เพราะส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นอาหารส่วนเกินที่อยู่หน้าร้านเป็นหลัก แต่ภายในห่วงโซ่ เช่น ในส่วนการผลิต การขนส่ง คลังสินค้า หรือจากกลุ่มซัพพลายเออร์ของแต่ละธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจอาหารส่งออก อาหารประป๋อง อาหารแช่แข็ง ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะเพิ่มความร่วมมือเข้าไปยังพันธมิตรในกลุ่มเหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้น
“ปัจจุบันพันธมิตรที่ร่วมมือกับทางมูลนิธิฯ อาจจะมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของผู้ประกอบการของธุรกิจอาหาร ซึ่งปริมาณความต้องการอาหารยังคงอยู่ในระดับสูง จึงได้ตั้งเป้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรให้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 25% เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารในการนำไปช่วยเหลือผู้ที่มีความต้องการได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทั้งการส่งต่ออาหารที่ได้รับบริจาคมาไปสู่ผู้รับได้ในเวลาที่เหมาะสม ทันกับช่วงเวลาในการรับประทานอาหารของคนในชุมชน รวมทั้งการบดูแลด้าน Shelf Life หรืออายุในการเก็บรักษา เพราะอาหารส่วนเกินที่ได้รับบริจาคมาส่วนใหญ่จะมีอายุสั้นกว่าปกติ จึงต้องระวังทั้งการสร้างขยะอาหารเพิ่ม หรือการดูแลไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของผู้รับบริจาค”
ยังมีอินไซต์สำคัญเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อการบริจาคอาหาร หรือ Food Donation ของภาคธุรกิจบางส่วน ที่มองว่า การนำอาหารมาบริจาคสะท้อนถึงความล้มเหลวด้าน Zero Food Waste Management ของตัวเอง และไม่กล้าร่วมมือกับทางมูลนิธิฯ ทำให้อาหารส่วนเกินอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้ถูกนำมาจัดการอย่างเหมาะสม และอาจต้องกลายเป็นขยะอาหารไปในที่สุด หรือบางองค์กรที่อาจไม่ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าภายในกระบวนการยังมีอาหารส่วนเกิน หรือขยะอาหารเกิดขึ้นในจุดไหนอย่างไรบ้าง รวมทั้งยังคงมีผู้ประกอบการบางรายที่ยังคงเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการหรือนำไปทำลายในระดับสูง
“อยากให้ภาคธุรกิจทั่วไปมองว่า Surplus Food เป็นเรื่องปกติมากๆ และหลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับธุรกิจอาหาร ที่จะทำให้อาหารที่ถูกผลิตขึ้นสามารถขายได้ทั้งหมด ทั้งจากกลไกทางการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค หรือแม้แต่กระบวนการในการขนส่งสินค้าเข้าออกภายในประเทศ ที่ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาหารส่วนเกินได้ทั้งสิ้น ไม่ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการขององค์กรแต่อย่างใด ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะเร่งสื่อสาร และสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีอาหารส่วนเกินอยู่ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการในการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ขณะที่การบริจาคอาหารถือเป็นหนึ่งในโซลูชั่นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมากที่สุดวิธีการหนึ่ง ซึ่งนอกจากผู้บริจาคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังได้สรุปรายงาน Positive Impact ที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งการช่วยลดปริมาณขยะอาหาร การสร้างคุณค่าให้สังคมผ่านมื้ออาหาร และปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ที่ลดลงได้ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษ ในการออกคู่มือการบริจาคอาหารเพื่อเพิ่มการสื่อสารไปยังภาคธุรกิจตางๆ ทั้งในกลุ่มโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรฐานสำหรับการดำเนินการบริจาคอาหารที่มีความสอดคล้องไปกับมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety เพื่อให้ประเทศไทยมีโมเดลและมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบ Food Donation เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในระบบนิเวศทั้งจากผู้บริจาค หน่วยงานหรือองค์กรด้าน Food Recue เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ได้รับบริจาค ควบคู่ไปกับการได้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพอากาศด้วย