เป็นหนึ่งใน Pioneer ของภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือ SROI (Social Return on Investment) มาช่วยวัดผลกระทบเชิงสังคมให้ Social Project ของบริษัท นำร่องด้วยพื้นที่แห่งการแบ่งปันเพื่อการเรียนรู้ของทุกคนอย่าง ‘สามย่าน โค-ออป’ ไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ได้นำอีกหนึ่งโครงการมาวัดผล SROI ได้แก่ กิจกรรมรับบริจาคโลหิต ภายใต้ชื่อ ‘มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน’ เพื่อให้ ‘สามย่านมิตรทาวน์’ เป็นอีกหนึ่งศูนย์สำหรับบริจาคโลหิตเพื่อสนับสนุนภารกิจสภากาชาดไทย โดยขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2020 หรือกว่า 4 ปีแล้ว
คุณสาริษฐ์ ไตรโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ สื่อสารองค์กรและแบรนด์ดิ้ง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเริ่มดำเนินโครงการรับบริจาคเลือดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อปริมาณโลหิตของสภากาชาดไทย จึงใช้พื้นที่ของสามย่านมิตรทาวน์เป็นพื้นที่ให้รถรับบริจาคโลหิต จำนวน 2 คัน มาจอด และชวนพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตร มาร่วมบริจาค โดยได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องรวม 15 ครั้ง ซึ่งจะจัดกิจกรรมขึ้นทุก 3 เดือน ครั้งละ 2 วัน พร้อมทั้งขยายพื้นที่บริจาคเข้ามาอยู่ภายในอาคารเพื่อความสะดวกมาขึ้น พร้อมทั้งชวนพันธมิตร ผู้บริหารของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ศิลปิน หรือ Influencer มาร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ รวมท้ังจัดทำเสื้อที่ระลึกเพื่อมอบให้ผู้บริจาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการการส่วนร่วมในโครงการเพิ่มมากขึ้น
ระหว่างขับเคลื่อนโครงการ ทางเฟรเซอร์ส ได้ทำการประเมินโครงการโดยนำเครื่องมือในการวัดผลกระทบเชิงสังคมอย่าง SROI เข้ามาใช้ เพื่อสามารถวัดผลการดำเนินโครงการในเชิงลึก และมากกว่าแค่จำนวนคนมาเข้าร่วมการบริจาค ทำให้ได้ทราบว่า มีผู้บริจาคจำนวนหนึ่งที่สนใจร่วมโครงการ แต่ยังไม่สามารถบริจาคได้ เพราะความเข้มของเลือดยังไม่ได้ตามเกณฑ์ ทำให้มีการปรับวิธีการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างทำโครงการ ทำให้ปีที่ผ่านมาโครงการสามารถสร้าง New high ด้วยจำนวนผู้ร่วมบริจาคตลอดทั้ง 2 วัน ในคร้ังที่ผ่านมา เพิ่มถึง 1.4 พันคน จากตัวเลขหลักร้อยในช่วงก่อนหน้า และสามารถระดมโลหิตเพื่อส่งต่อให้สภากาชาดได้มากกว่า 5.5 ล้านซีซี
“เราต้องการให้โครงการ Blood Donation สามารถสร้างผลเชิงบวกอย่างแท้จริง ไม่กระทบกับสุขภาพของผู้มาบริจาค และส่งมอบประสบการณ์ที่ดี ทั้งเรื่องสถานที่ การอำนวยความสะดวก และการดูแลต่างๆ เพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้าร่วมโครงการต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะมีการสื่อสารและ Educated ในเรื่องของการเตรียมตัวก่อนการบริจาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการทั้งปริมาณเลือดที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือการดูแลสุขภาพของผู้บริจาค ซึ่งการประเมิน SROI ทำให้ทราบถึงผลตอบแทนทางสังคมของโครงการ โดยพบว่า การลงทุนทุกๆ 1 บาท ของโครงการ จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 4.5 เท่า พร้อมสร้างคุณค่าทางสังคมในหลากหลายมิติ ทั้งต่อผู้บริจาคโลหิต ในแง่ของการคัดกรองสุขภาพ และได้มีส่วนร่วมสร้างคุณค่าให้สังคม กลุ่มอาสาสมัคร ที่เพิ่มทักษะและเครือข่ายในการทำงานด้านสังคม ร้านค้าหรือชุมชนรอบข้าง จากทราฟฟิกภายในศูนย์ที่เพิ่มขึ้นและโอกาสเข้าร่วมโครงการ ศูนย์บริการโลหิต ที่สามารถลดงบประมาณด้านการจัดหาโลหิตเอง รวมทั้งต่อบริษัท โดยเฉพาะการสร้างความภาคภูมิใจและเพิ่ม Loyalty ต่อองค์กรของพนักงาน”
กิจกรรม ‘มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน’ ยังมีความเชื่อมโยงและตอบโจทย์การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบ SDG ของเฟรเซอร์สฯ ทั้ง SDG3 ในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG17 ในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในอนาคตจะขยายผลโครงการจากที่สามย่านมิตรทาวน์ ไปยังอาคารอื่นๆ ของบริษัท เช่น FYI Center, Park Venture หรือสาธรสแควร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้นำอีก 2 โครงการเพื่อสังคมของบริษัท เข้ารับการประเมิน SROI เพิ่มเติม ได้แก่ โครงการ Classroom Makeover ห้องเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตาหรือมีปัญหาด้านการมองเห็น ซึ่งขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่พัทยา และโครงการภายในอย่าง Run for friends ที่ชวนพนักงานวิ่งเพื่อส่งเสริม Well Being ซึ่งในทุก 1 กิโลเมตร ที่วิ่งได้ ทางบริษัทจะร่วมสมทบทุนเข้ากองทุนพิเศษ เพื่อช่วยเหลือพนักงานหรือครอบครัว ในเหตุจำเป็นหรือการดูแลสุขภาพที่สวัสดิการต่างๆ ของบริษัทไม่ครอบคลุม โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุป SROI ของทั้งสองโปรเจ็กต์ ในช่วงปลายปี
SROI ประเมินได้ลึกมากกว่าแค่ Output
คุณสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ กรรมการและเลขาธิการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (Social Value Thailand Association) กล่าวว่า การประเมิน SROI ของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ยังมีเอกชนเพียงไม่กี่รายที่นำเครื่องมือนี้ไปใช้วัดผลใน Social Project ของตัวเอง ประกอบกับยังไม่ได้กำหนดเป็นภาคบังคับเหมือนมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ต้องทำ ESG Report หรือ EIA จึงมีเพียงบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องทำ SD Report หรือกลุ่ม Social Enterprise ที่ต้องการนำเสนอโครงการต่อนักลงทุน แต่เชื่อว่า ในอนาคตจะเป็นเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และขยายผลไปมากกว่าแค่การประเมินโครงการเพื่อสังคมเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ประเมินผลกระทบของ Product หรือ Service ที่จะออกมาทำตลาดเพิ่มเติมในอนาคต เพราะสิ่งที่ได้จากการวัด SROI นอกจาก ทราบรีเทิร์นที่ได้จากโปรเจ็กต์ต่างๆ แล้ว ยังได้มาซึ่ง Data Insight ของโครงการ ซึ่งสามารถนำไปประเมินเพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เหล่านั้นได้เช่นเดียวกับการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ
“โครงการที่ประเมิน SROI จะทราบผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงลึกจากทุกมิติอย่างรอบด้าน มากกว่าแค่ Output ที่มองเห็นในขณะที่ทำกิจกรรม เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์การทำงานร่วมกับ Stakeholder และจะทราบผลกระทบจากโครงการทั้งส่วนที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจทั้งมุมบวกและลบ จึงทำให้โครงการมี Health Check เพื่อทราบประสิทธิภาพที่แท้จริงว่าได้ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็น Right Thing หรือไม่ เพราะเหรียญมี 2 ด้าน โครงการต่างๆ อาจจะส่งผลดีในมิติหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบเชิงลบอีกด้านหนึ่งหรือในระยะยาว ซึ่งการทำ SROI จะเป็นเหมือนการทดลอง เพื่อเข้าใจปัญหาจากทุกด้าน และนำมาวางแผนเพื่อแก้ไข หรือปรับปรุงให้ได้โซลูชันส์ที่ทำให้สามารถขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด และสามารถลดผลกระทบเชิงลบ พร้อมทั้งขยายการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ การประเมิน SROI ในมุมหนึ่งถือเป็นการสะท้อนความรับผิดชอบต่อ Stakeholder เนื่องจาก ไม่ได้มองเพียงเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อตอบเพียงวัตถุประสงค์ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งการเปรียบเทียบกับทรัพยากร งบประมาณ และเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อประเมินว่าเป็นโครงการที่ดีต่อคนส่วนใหญ่จริงหรือไม่ ควรขับเคลื่อนต่อไปหรือไม่ หรือควรขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันโครงการที่เข้ารับการประเมิน SROI มีราวร้อยกว่าโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ขณะที่ในภาคธุรกิจมีเพียงสิบกว่าโครงการเท่านั้น
ดังนั้น เพื่อขยายผลให้มีการวัดผล SROI มากขึ้น ทางสมาคมฯ จำเป็นต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญต่อผลกระทบเชิงสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งการสะสมข้อมูล และ Base Line ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นฐานสำหรับการประเมินโครงการในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และคำนึงถึง Impact Transparency เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างมีความโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือและมาตรฐานในการยอมรับ ประกอบกับเร่งผลิตบุคลากรมาเติมเต็มในระบบนิเวศ ทั้งการอบรมผู้ประเมิน หรือการผลิตผู้ที่ตรวจสอบรับรองการประเมิน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวในอนาคต ตามทิศทางของโลกที่เริ่มให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งอาจยกระดับเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับโครงการต่างๆ ในอนาคต เช่น การกำหนดให้ต้องขอรับรองผลกระทบด้านสังคมอย่าง SIA (Social Impact Assessment) เช่นเดียวกับเวลาที่มีการก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ก่อน เป็นต้น