หลังประกาศเปลี่ยนผ่านธุรกิจครั้งสำคัญของกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ในระดับโลก เพื่อมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางของความยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจสามารถส่งมอบได้ทั้ง Economy Value ควบคู่ไปกับการสร้าง Social Value พร้อมเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ได้ภายในปี 2050
ส่งผลให้ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย’ ประกาศแผนเพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนของทั้งกลุ่มฯ ผ่าน Vision 2030 เพื่อการเป็น ‘ผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน’ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘ศาสตร์แห่งกรดอะมิโน’ เพื่อส่งมอบการมีสุขภาพดีให้ผู้คนทั่วโลก ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยวางเป้าหมายระยะกลางในปี 2030 ที่ต้องบรรลุทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% 2. ดูแลรักษาแหล่งน้ำ 80% 3. ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล 4. ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต และ 5. จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนทั้ง 100%
ขณะที่ผลการขับเคลื่อนล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย สามารถขับเคลื่อนแต่ละมิติได้ตามแผน ทั้งการลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตลงได้ 91% หรือ 3.8 แสนตัน ผ่านการวางแผนพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทางเลือกและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มการลดคาร์บอนเพิ่มเป็น 92% ด้วยการพัฒนาแนวทางใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มเติม และเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น
ด้านการลดใช้พลาสติก ได้ปรับบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้แล้ว 56% ลดการใช้พลาสติกลงได้ 365 ตัน จากการลดขนาดและความหนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งลดจำนวนชั้นบรรจุภัณฑ์ และผลิตจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น โดยปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพิ่มเป็น 72%
ส่วนการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิตจากทุกโรงงานรวมกันกว่า 1,300 ตัน หรือกว่า 70% จากการจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลัก Bio-cycle โดยในปีนี้จะขยายความร่วมมือจากภายในธุรกิจไปสู่ภาคของผู้บริโภคเพิ่มเติมผ่านแคมเปญ Too Good to Waste พร้อมลดความสูญเสียเหลือ 60% ภายในห่วงโซ่การผลิตของบริษัท
ด้านการใช้น้ำตั้งเป้าลดการใช้ลง 1.8 แสนกิโลลิตร จากปีที่ผ่านมา ลดการใช้ลงแล้ว 1.25 กิโลลิตร รวมทั้งในมิติของการจัดหารวัตถุดิบที่ยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานรับรองต่างๆ เช่น ใช้หมูที่เลี้ยงตามหลัก Animal Welfare หรือใช้กระดาษจากป่าปลูกทั้ง 100% รวมทั้งจะขยายไปสู่กลุ่มเมล็ดกาแฟเพิ่มเติมด้วย เป็นต้น
ชู ‘กำแพงเพชร โมเดล’ ต้นแบบ ‘Ajinomoto Bio-cycle’
สำหรับการขับเคลื่อนสู่ Vision 2030 ในช่วง 6 ปีที่เหลือนี้ อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย จะเร่งขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบนิเวศ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ที่สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ทั้ง 3 ระดับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งสโคป 1 และ 2 ที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการผลิตของธุรกิจเอง รวมทั้งเริ่มนำร่องลดในสโคป 3 ที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่ธุรกิจทั้งหมดของอายิโนะโมะโต๊ะ ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงทั้งวัฏจักรชีวมวล หรือ ‘Ajinomoto Bio-cycle’
โดยมีพื้นที่นำร่องที่เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ กำแพงเพชร’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว หนึ่งในฐานการผลิตสินค้าสำคัญอย่าง ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ สำหรับทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป รวมทั้งไซส์ที่รองรับกลุ่มธุรกิจ และวัตถุปรุงแต่งอาหารอายิไทด์ ไอ พลัส จี ซึ่งเป็นฐานผลิตเพียงแห่งเดียวของประเทศ รองรับการทำตลาดในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ W-Plus ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็นผงชูรส 92% และอายิไทด์ ไอ พลัส จี 8%
โรงงานกำแพงเพชร มีระบบจัดการทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Vision 2030 จากการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทั้ง 100% โดยได้หยุดใช้หม้อต้มไอน้ำจากน้ำมันในกระบวนการผลิตได้สำเร็จในปี 2566 ที่ผ่านมา จากการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนชีวมวลขึ้นภายในโรงงาน และใช้เชื้อเพลิงจากแกลบที่เป็นวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่สามารถผลิตไฟได้ 9.9 เมกะวัตต์ ลดการซื้อไฟฟ้าใช้ลงได้ 40% และลดคาร์บอนลงได้ 1.8 แสนตันต่อปี พร้อมทั้งมีส่วนช่วยกระจายรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่กว่า 300 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ปัญหาการเผาขยะทางการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อน Positive Impcat ในมิติอื่นๆ ตามเป้าหมายอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิต การลดขยะพลาสติก รวมท้ังลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ขณะส่วนต่างอีก 60% ของไฟฟ้าที่ทางโรงงานยังต้องซื้อจากภาครัฐ ก็ได้เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เป็น Renewable พร้อมแผนขยายผลเพื่อเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้มากขึ้น ทั้งการใช้วัสดุทางการเกษตรอื่นๆ ที่มีในพื้นที่มาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม เช่น ใบอ้อย หรือเพิ่มการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงศึกษาสเกลที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีโครงการนำร่องอยู่ราว 900 ตารางเมตร และมีกำลังผลิตรวม 117 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ การประเมินการปลดปล่อยคาร์บอนของโรงงานกำแพงเพชรเมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า สามารถลด Emission ในสโคป 1 ซึ่งสะสมมาจากปีฐานในปี 2561 ลงได้แล้ว 4,247 ตัน และสามารถลดการปลดปล่อยในสโคปที่ 2 ลงได้แล้ว 38,725 ตัน
เร่งสโคป 3 พร้อมยกระดับเกษตรกรในพื้นที่
สำหรับการจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในสโคปที่ 3 จะมุ่งขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับต้นน้ำร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผ่านโครงการ Thai Farmer Better Life Partner (TFBLP) ภายใต้การดูแลของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเดิมคือบริษัท เอฟ ดี กรีน เป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของอายิโนะโมะโต๊ะ มีหน้าที่พัฒนา Co-product หรือผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตของบริษัท รวมทั้งการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง
ซึ่งจากนี้ไปการขับเคลื่อนภารกิจของ อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อเชื่อมโยงการรับรู้นโยบายด้านความยั่งยืนให้กับกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ในกลุ่ม Green Technology เพิ่มมากขึ้น จากการรับรู้ส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ของอายิโนะโมะโต๊ะที่มักจะติดอยู่ในกลุ่มอาหาร หรือผงชูรส เท่านั้น
ทั้งนี้ ภายในกระบวนการผลิตของอายิโนะโมะโต๊ะ ทั้งจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ และจากการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้า จะมีผลิตภัณฑ์ร่วมอย่าง ขี้เถ้าแกลบ น้ำหมักจากกระบวนการผลิต หรือตะกอนจากกระบวนการบำบัดน้ำ ซึ่งจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ปรับปรุงดิน ปุ๋ยชีวภาพ หรือสารปรับปรุงผลผลิตต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จาก Co-product ใน 6 กลุ่ม รวม 11 รายการ ซึ่งทางอายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน จะเริ่มทำตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบ B2C กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง หรือ B2B ร่วมกับกลุ่มโรงงานต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรของตัวเอง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตในมิติของรายได้จากยอดขายให้เพิ่มขึ้นราว 2.5 เท่า ภายในปี 2030
อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน และ โครงการ TFBLP จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยลด Emision ในสโคป 3 ได้อย่างมาก ทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอินทรีย์เคมี มาทดแทนการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ขณะที่คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ และเพิ่มความแข็งแรงให้สายพันธุ์ ทำให้ช่วยลดจำนวนการเพาะปลูกแต่สามารถรักษาปริมาณผลผลิต ทำให้ช่วยลดการสร้าง Emission ลงได้ และยังส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทางธุรกิจของอายิโนะโม๊ะโต๊ะเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอด Waste จากกระบวนการผลิต ทำให้ช่วยลดการสร้างขยะ และสามารถพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งสามารถกลับไปดูแลกลุ่มเกษตรกรในส่วนของต้นน้ำธุรกิจได้ รวมทั้งการจัดทำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมคุณภาพได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ ทำให้สามารถดูแลการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการฉายภาพการขับเคลื่อน Vision 2030 ของอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 2050 ทีมผู้บริหาร ประกอบด้วย คุณเค็นจิ ฮะระดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณนัฏทพนธ์ พานิชดี ผู้จัดการโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ จังหวัดกำแพงเพชร และ ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมให้ข้อมูลการขับเคลื่อนและเป้าหมายที่ทางอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ต้องการบรรลุในแต่ละมิติ โดยประเมินเม็ดเงินลงทุนที่จะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3,00 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสามารบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วางไว้
ขณะที่โมเดล Ajinomoto Bio-cycle ในพื้นที่ต้นแบบอย่างกำแพงเพชร ก็จะสามารถนำเป็น Best Practice เพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งตอบโจทย์การขับเคลื่อนธุรกิจของอายิโนะโมะโต๊ะที่ต้องการสร้างคุณค่าได้อย่างรอบด้านทั้งในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมทั้งในมิติของการดูแลสังคมไปพร้อมกัน