บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ ‘เป๊ปซี่โค ประเทศไทย’ ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์ ‘เลย์’ กับภารกิจการสร้างผลกระทบเชิงบวกตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตามกลยุทธ์ pep+ (PepsiCo Positive) ตั้งแต่ต้นน้ำผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรผู้ปลูกมันฝรั่งกว่า 5,800 ราย ใน 10 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน ผ่านแนวทาง Positive Agriculture
ส่วนกลางน้ำได้ขับเคลื่อน Positive Value Chain เพื่อสร้างกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมความหลากหลาย เปิดกว้างและเท่าเทียมภายในองค์กร ไปจนถึงปลายน้ำผ่าน Positive Choice เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าทั้งต่อผู้บริโภคและโลกใบนี้ ในฐานะ ‘Iconic Brand’ ที่มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางของความยั่งยืน
คุณบุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ขับเคลื่อนกลยุทธ์ pep+ มาเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เพาะปลูกมันฝรั่งประสบความสำเร็จในหลายมติ ทั้งการเพิ่มความสามารถ แนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร ตลอดจนการพลิกโฉมการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนและโลกผ่านแบรนด์เลย์
ลดความเสี่ยงธุรกิจ ด้วยต้นน้ำที่แข็งแรง
โดยเฉพาะการสร้างฐานธุรกิจที่ยั่งยืนจากต้นน้ำที่แข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยงรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร หรือปัญหาเชิงโครงสร้างและการเมืองที่จะส่งผลต่อการค้าขายทั่วโลก ขณะที่คุณภาพชีวิตของเกษตรกร ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับสังคม
ปัจจุบันเป๊ปซี่โค ประเทศไทยได้ให้การส่งเสริมเกษตรกรไทยในการปลูกมันฝรั่งบนพื้นที่กว่า 38,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม มีเกษตรกรรวมกันมากกว่า 5,800 คน ผ่านการจัดทำฟาร์มต้นแบบ (model farm) จำนวน 19 แห่ง ซึ่งเกษตรกรจะได้รับองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคนิค เทคโนโลยีในการปลูกมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชหลังนาที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีความมั่นคง เนื่องจากมีการรับประกันราคารับซื้อที่แน่นอน ภายใต้การทำข้อตกลงของระบบเกษตรพันธสัญญา
คุณธนกฤต ศรีวิชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า แต่ละปี ‘เป๊ปซี่โค ประเทศไทย’ จะมีความต้องการใช้ปริมาณมันฝรั่งเพื่อผลิต ‘เลย์’ อยู่ที่กว่า 1.2 แสนตันต่อปี และจากการมุ่งมั่นส่งเสริมการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด มาตั้งแต่ปี 2538 ทำให้สามารถใช้ผลผลิตจากในประเทศได้ถึง 90% หรือกว่า 1 แสนตัน จากพื้นที่กว่า 3 หมื่นไร่ โดยมียอดนำเข้าที่ราว 1 หมื่นตัน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายขยายเครือข่ายเกษตรกรอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นตัน เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นราว 8-10% ในแต่ละปี โดยไม่ต้องหันไปพึ่งพาวัตถุดิบจากการนำเข้า ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าราคาในประเทศมากกว่าเท่าตัว รวมทั้งยังลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนวัตุดิบจากความผันผวนจากหลายปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีการประเมินว่า ปัจจัยด้านสภาพอากาศจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในมิติของการสูญเสียโอกาส หรือการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนรวมกันราว 14-15 ล้านเหรียญสหรัฐ
“เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้นำแนวทางการเกษตรแบบยั่งยืนเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักราว 80-90% ของพอร์ตโฟลิโอกลุ่มสแน็ค โดยมุ่งเน้นทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความแข็งแรง ให้มีผลผลิตได้มากขึ้น และเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น โดยลดการเก็บเกี่ยวกับ 120 ว้น เหลือเพียง 90 วัน และสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 2 ตัน เป็น 3 -3.2 ตัน และมีเป้าหมายจะพัฒนาเพิ่มเป็น 5 ตันต่อไร่ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น การใช้โดรนมาช่วยตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก หรือการใช้เทคโนโลยีอินฟาเรดช่วยตรวจสอบสภาพดิน รวมทั้งการเพาะปลูกด้วยระบบน้ำหยด ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำลงได้ถึง 50% โดยการขับเคลื่อนที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยรวมได้กว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี และมีเป้าหมายสร้างกำไรให้เกษตรกรในเครือข่ายได้เพิ่มขึ้นราว 15% ภายในปี 2030 ตามเป้าหมายการขับเคลื่อนในมิติ Positive Agriculture รวมทั้งยังมองหาโอกาสเพื่อส่งเสริม Sustainability Sourcing ให้เกษตรกรในกลุ่มข้าว และข้าวโพดเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย”
นำร่องศึกษาบรรจุภัณฑ์จาก rPP
นอกจากมิติของต้นน้ำ ในฐานะที่เลย์ เป็นแบรนด์ผู้นำในตลาดขนมขบเคี้ยว ยังมีเป้าหมายทำให้บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งการทำให้บรรจุภัณฑ์เลย์ทุกชิ้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบหรือการเผา ด้วยการสร้างให้เกิดระบบ Closed Loop ที่แข็งแรงในวงจรของบรรจุภัณฑ์จากซองเลย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการใช้พลาสติกใหม่ลง 50% ภายในปี 2030 ตามที่ประกาศไว้ในกลยุทธ์ pep+
คุณบุษบา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์เลย์ทุกซอง ทุก SKU จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ท้ังหมด โดยที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนานวัตกรรมผ่านการดีไซน์โครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ให้สะดวกต่อการนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ด้วยการใช้พลาสติก PP เพียงแบบเดียว (Mono-material) และลดจำนวนชั้นบรรจุภัณฑ์ลงจาก 3 ชั้น เหลือ 2 ชั้น โดยไม่กระทบต่อคุณภาพและอายุในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งจะให้ความสำคัญต่อการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อนำมารีไซเคิล ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรและชุมชน 25 แห่ง ผ่านการสร้างความตระหนักในการแยกขยะเพื่อเป็นต้นทางสำคัญของการนำบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ระบบได้อย่างครบวงจร
“ที่ผ่านมากลุ่มซองขนมต่างๆ จะถูกจัดเป็นขยะกำพร้า ที่มักถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ ในฐานะที่เลย์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและต้องการรับผิดชอบในการลดปริมาณขยะที่มีส่วนสร้างขึ้น จึงมุ่งขับเคลื่อนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ด้วยการตั้งราคาให้ผู้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8 บาท เพื่อสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านกลไกตลาดและมุ่งสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภค และพันธมิตร เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการแยกขยะ เพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทสามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ได้ราว 1-2 พันตันต่อปี หรือประมาณ 15% จากปริมาณที่ใช้ และได้นำไปต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อส่งต่อให้ชุมชน หรือโรงเรียนต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ต่อ รวมทั้งในอนาคตมีแผนจะนำเม็ดพลาสติก rPP มาผลิตเป็นซองบรรจุภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อสามารถขับเคลื่อนได้อย่างครบวงจร และบรรลุเป้าหมาย pep+ ที่ต้องการลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลง 50% ภายในปี 2030 และขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net zero ภายในปี 2040 ด้วย”
ความท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนอยู่ที่การเก็บกลับ เนื่องจาก ซองบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเบามาก และคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทำให้ถูกทิ้งรวมและเกิดการปนเปื้อน ทำให้บริษัทต้องสร้างมูลค่าให้ซองบรรจุภัณฑ์สำหรับการรับซื้อคืนเพื่อช่วยกระตุ้นให้มีปริมาณนำส่งคืนเพิ่มเติมมากขึ้น จากแค่กลุ่มที่ทำด้วยความสมัครใจ รวมทั้งได้เพิ่มงบสำหรับ Educated เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่สามารถทำสำเร็จมาแล้วในกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งเป๊ปซี่โคเป็นรายแรกของตลาดที่สามารถใช้ rPET และขับเคลื่อนได้อย่างครบลูป แบบ Bottle to Botlle
นอกจากการใช้พลาสติกรีไซเคิลแล้ว บริษัทยังมองหานวัตกรรมด้านวัสดุที่สามารถนำมาใช้ทดแทนพลาสติก เช่น ไบโอพลาสติก หรือกลุ่มคอมโพสิต เพื่อเป็นแนวทางเพิ่มเติมในการบรรลุเป้าหมายเพื่อช่วยลดการใช้พลาสติกลงได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน โดยปัญหาสำคัญที่ทำให้การใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลยังไม่สามารถขยายได้ในวงกว้าง เนื่องจาก ระดับราคาที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างการใช้พลาสติกใหม่ และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยความแตกต่างของ PET และ rPET จะอยู่ที่ราว 30-40% ขณะที่กลุ่ม PP และ rPP จะแตกต่างกันมากกว่าถึง 1-2 เท่าตัวเลยทีเดียว