ทำความรู้จัก ‘​ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน’ ที่มีมากกว่าแค่สีเขียว และอนาคตจะยิ่งหลากหลาย​จนกลายเป็นสีรุ้ง

ตลาดตราสารหนี้ในโลกการเงินเพื่อความยั่งยืน ยังมีตราสารหนี้อื่นๆ ที่มากกว่าแค่ตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bonds  โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอนาคตคงได้เห็นตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนที่หลากหลายสีจนอาจกลายเป็นสีรุ้งในที่สุด

พร้อมฉายภาพความท้าทายที่ ตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ต้องเผชิญแตกต่างไปจากตราสารหนี้แบบทั่วไป ทั้งตลาดที่อยู่ในระยะเริ่มต้น การวัดและประเมินผลกระทบซึ่งรวมถึงต้นทุน และมาตรฐานสากลในปัจจุบันที่ยังกระจัดกระจายรอการดำเนินการต่อไป

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน: การระดมทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์

ปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนของโลกมีมูลค่าถึง 1.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ​โดยสัดส่วนใหญ่ที่สุดของ​​ตราสารหนี้ สัดส่วนราว 64% ​เป็นตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bonds ​ขณะที่ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนสีอื่นๆ ​​มีมูลค่ารวมกันราว 3.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของตราสารหนี้สีเขียว

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนได้ถึงความหลากหลายที่มากขึ้น และแนวโน้มที่กำลังเติบโตในตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ มุมมองของตลาดและนักลงทุนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ​โดยผลสำรวจของ​ Stanford ในปี 2566 พบว่า 60% ของนักลงทุนรุ่นใหม่ ไม่ได้ลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งหวังที่จะมีส่วนในการพัฒนาสังคมและโลกให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กันได้ นำมาซึ่งสีสันที่มากขึ้นในตลาดการลงทุนในปัจจุบัน

อนาคต​​ตราสารหนี้ยั่งยืน จะหลากหลายจนเป็นสีรุ้ง 

ปัจจุบันโลกการเงินเพื่อความยั่งยืน​ไม่ได้มีแค่เฉดสีเขียวของ Green Bonds เท่านั้น เพราะหัวใจหลักของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน​คือ ผลิตภัณฑ์การลงทุน ที่ออกแบบมาเพื่อระดมทุนแก่โครงการที่มีเป้าหมายสร้างผลกระทบเชิงบวก ที่เป็นรูปธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไปพร้อมกับการสร้างผลกำไรด้วย

ตราสารหนี้สีฟ้า : Blue Bonds

ตราสารหนี้สีฟ้า เป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ โดยมีหลักการเช่นเดียวกับ Green Bonds  ซึ่งตั้งแต่ปี 2561-2565 ตลาด Blue bonds มีมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่า Green bonds​ ในช่วงปีเดียวกัน แต่อาจเรียกได้ว่า Blue Bonds อยู่ในสถานะคล้ายกับ  Green bonds เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

Blue Bond รุ่นแรกของโลกออกโดยประเทศเซเชลส์ (Seychelles) เมื่อตุลาคมปี 2561 ซึ่งใน​ช่วงแรกผู้ออกตราสารหนี้หลักในตลาดมักเป็น องค์การระหว่างประเทศอย่าง World Bank, ADB แต่​ช่วงต่อๆ มา​ เริ่มมีเอกชนทั้งภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในตลาดเพิ่มขึ้น เช่น ​​Bank of China, Bank of America หรือแม้แต่ Mowi บริษัทเอกชนรายใหญ่ในนอร์เวย์ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเล หรือ Orsted  บริษัทพลังงานแห่งแรกที่ออก Blue Bond

ทั้งนี้  3 ใน 4 ของโลก ประกอบไปด้วยน้ำ เรียกได้ว่า โอกาสในตลาดสีฟ้าจึงค่อนข้างกว้าง ซึ่งทาง​ OECD ประมาณการไว้ว่า ขนาดเศรษฐกิจสีฟ้า จะมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 จึงยังมีช่องว่างในการเติบโตสำหรับตราสารหนี้สีฟ้า ในตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน และ Blue bonds อาจจะกลาย​เป็น The New Green Bonds ได้ 

ตราสารหนี้สีส้ม :  Orange Bonds

หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยกับตราสารหนี้สีส้มมากนัก ซึ่งเป็นตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ  โดย Women’s Livelihood BondTM (WLB) Series ถือเป็น ตราสารหนี้สีส้มชุดแรกของโลก มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2560 โดย Orange Bond Initiative ​มีรัฐบาลออสเตรเลีย​เป็นหัวหอกหลัก นับตั้งแต่ตราสารชุดแรก WLB1 จนถึงปัจจุบัน WLB6 ​ระดมทุนได้แล้วกว่า 228 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพและการำดรงชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิงและเด็กรวมแล้วกว่า 2.6 ล้านคน ในทวีปเอเชียและ แอฟริกา 7 ประเทศ และใน 6 ภาคส่วน ได้แก่ การเกษตรยั่งยืน พลังงานสะอาด น้ำและสุขาภิบาล ที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และ  Microfinance

หลายท่านอาจตั้งคำถามว่า ตราสารหนี้สีส้ม มีผลตอบแทนอย่างไร และจะวัดผลการดำเนินงานอย่างไร โดยอัต​ราผลตอบแทนของ WLB นั้นอยู่ระหว่าง 5-7% ​ส่วนการวัดผลของ WLB จะกำหนดจำนวนเงินและจำนวนผู้หญิงที่จะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่ง WLB ตั้งเป้าหมาย ภายในปี 2573  จะสามารถระดมทุนให้ได้ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงและเด็ก 100 ล้านคน

ตราสารหนี้แรดดำ : ​Rhino Bonds

เป็นตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์แรดดำ โดยระดมทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย World Bank​ เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรแรดดดำ ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ จากการล่าเพื่อนำนอแรดไปขายใน 2 เขตอุทยานแห่งชาติที่แอฟริกาใต้ Addo Elephant National Park และ Great Fish River Nature Reserve และจะมีอายุครบกำหนดใน 5 ปี

​ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ นักลงทุนใน Rhino Bonds ซึ่งเป็น​นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ยอมรับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทน​ รวมทั้งยังยอมมองข้ามจำนวนผลตอบแทนที่อาจหายไปมูลค่าถึง ​5.49 ล้านเหรียญสหรัฐ

ความท้าทายของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนที่ไม่ใช่สีเขียว

– ตลาดยังใหม่และอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาตลาด

ปัจจุบันไม่เพียงแต่มีผู้เล่นหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายและไม่แน่นอน แต่รวมถึงความตระหนักรู้ และข้อมูลที่น้อยในตลาด ซึ่งรวมถึงการประมาณการอัตราผลตอบแทนความเสี่ยง และต้นทุนในการออกตราสารด้วย

– การกำหนดและการวัดผลกระทบ

หนึ่งในความท้าทายหลักคือ ความยากลำบากในการวัดผลกระทบเชิงปริมาณด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมของโครงการ ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุน  ในช่วงนี้ผู้ออกตราสารหนี้จึงต้องสร้างกระบวนการ​และต้องหาองค์กร หรือบุคคลที่สามในการ verify ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการออกตราสารหนี้ด้วย

– ขาดมาตรฐานที่เป็นสากล

ปัจจุบันเรียกได้ว่ามาตรฐานสำหรับตราสารหนี้หลากสี มีความกระจัดกระจาย แม้ว่าเริ่มมีหลายองค์กรระดับโลก พยายามออกแนวทางมาเพื่อสนับสนุนตราสารหนี้หลากสีนี้ ซึ่งแตกต่าง จาก Green Bonds ที่มีแนวทางกำหนดไว้​ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับระดับสากล

อนาคตของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน

เนื่องจากปัจจัยที่มิใช่ตัวแปรทางการเงินได้เข้ามามีบทบาท และกำหนดทิศทางผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น ในอนาคตจึงมีโอกาสที่จะได้เห็นตราสารหนี้ที่มีสีหลากหลายมากขึ้นจนกลายเป็นสีรุ้ง และมีจุดประสงค์ที่มากกว่าแค่เพื่อการลดคาร์บอนเพียงอย่างเดียว และอาจได้พบตราสารใหมๆ เพิ่มเติม เช่น  Tiger bonds4 ของ UNDP,  Mountain Bonds เพื่อดูแลเหล่าเทือกเขา หรือ Deforestation Bonds เพื่อดูแลผืนป่า

การพัฒนาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความปรารถนาในหมู่นักลงทุนในการจัดการพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับคุณค่าทางจริยธรรม และควมสนใจของแต่ละบุคคล เพื่อขยายขอบเขตได้มากกว่าเกณฑ์ ESG และในอนาคตอาจรวมถึงสาขาอื่นๆ เช่น ศิลปะและวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยซึ่ง Sustainability Bonds ได้รับความนิยมสูงที่สุด​ ความหลากสีในตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนล้วนเป็นโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสีฟ้า ซึ่งมีมูลค่าถึง 30% ของ GDP ไทย หรือการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงการออกตราสารหนี้ใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเหล่านี้มีความหลากหลายมากและมี โอกาสพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น กฎระเบียบต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาตามให้ทัน ซึ่งปัจจุบันเฉพาะ Green Bonds เท่านั้น ที่มีกฎระเบียบ​บังคับใช้ที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการตาม แต่ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนประเภทอื่นๆ ยังคงเป็นเพียง Framework หรือ Guideline เท่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแล ที่จะทำอย่างไรเพื่อลดการฟอกสีอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะการฟอกเขียวเท่านั้น

Stay Connected
Latest News