เปิดตัวมาสักระยะแล้ว สำหรับ ‘น้ำดื่มสิงห์ ขวดใส’ ที่ไม่มีพลาสติกติดอยู่ข้างขวดเหมือนที่ผ่านมา และแม้ว่าจะไม่ใช่รายแรกของตลาด แต่ในฐานะผู้นำตลาดน้ำดื่มที่ครองส่วนแบ่งมากกว่า 20% ในตลาดมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านบาท การขยับของน้ำดื่มสิงห์ในแต่ละครั้งย่อมมีเบื้องหลังและวิธีคิดที่น่าสนใจอย่างแน่นอน
หลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมสิงห์เพิ่งเริ่มขยับ ทำไมต้องนำร่องที่ไซส์ 1.5 ลิตร ทำไมเลือกขายในโลตัสก่อน ไซส์อื่นๆ จะเป็นขวดใสเมื่อไหร่ คุณพรรณทิพย์ ลีตะชีวะ ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดแบรนด์น็อนแอลกอฮอล์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ได้ให้รายละเอียดต่างๆ ไว้ดังต่อไปนี้
1. ทำไมต้องนำร่องด้วยไซส์ 1.5 ลิตร
การนำร่องทำตลาดขวดใสครั้งแรกด้วยไซส์ 1.5 ลิตรนั้น เนื่องจากเป็นขนาดที่ขายดีที่สุดของตลาดน้ำดื่ม ทั้งจากปริมาณสัดส่วนราว 40% ของภาพรวมตลาด โดยที่สิงห์มีแชร์ในไซส์นี้ถึงเกือบครึ่งตลาดที่ 49% ขณะที่ในพอร์ตโฟลิโอของสิงห์เองมีสัดส่วนมากถึง 55% ดังนั้น การนำร่องด้วย SKU ที่มีสัดส่วนจำนวนมากจะทำให้สิงห์สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการเลือกนำร่องด้วยบรรจุภัณฑ์ขนาดอื่นๆ
FYI 1 : สัดส่วนยอดขายในตลาดน้ำดื่ม แบ่งตามขนาดบรรจุภัณฑ์
– อันดับ 1 ขนาด 1.5 ลิตร สัดส่วน 40% สิงห์มีแชร์ในบรรจุภัณฑ์นี้ 49% (สัดส่วนในพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง 55%)
- อันดับ 2 ขนาด 600 มิลลิลิตร สัดส่วน 40% สิงห์มีแชร์ในบรรจุภัณฑ์นี้ 41% (สัดส่วนในพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง 36%)
– อันดับ 3 ขนาด 750 มิลลิลิตร โดยสิงห์มีสัดส่วนยอดขายขนาดบรรจุนี้ในพอรตโฟลิโอของตัวเอง 6% ที่เหลือเป็น ขนาด 330 มิลลิลิตร และขนาด 6 ลิตร รวมกัน
FYI 2 : ข้อมูลนี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคในตลาดน้ำดื่มให้ความสำคัญกับเรื่องของ Value for Money ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณบรรจุมาก ขายได้ดีกว่าไซส์เล็ก (ขนาด 750 มล. เป็นขนาดลิมิเต็ดที่ไม่ได้มีขายในทุกช่องทาง ขณะที่ขนาด 1.5 ลิตร และ 600 มล. มีจำหน่ายในทุกช่องทาง จึงทำให้สัดส่วน 750 มล. ไม่ได้สูงมากนัก)
2. ทำไมต้องขายแบบเป็นแพ็ก 6 ขวด
น้ำดื่มสิงห์ต้องการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ อย. อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะที่ให้แสดงข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วนและ ‘ชัดเจน’ ดังนั้น ขวดไซส์ 1.5 ลิตร จึงเป็นขวดที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะใส่ข้อมูลสำคัญตามกำหนดของ อย. ได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตราสินค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ ปริมาตร เลขที่ อย. และที่อยู่ผู้ผลิต ซึ่งได้พิมพ์แบบปั๊มนูนไว้บนขวดแต่ละขวด รวมทั้งยังได้พิมพ์ข้อมูลทั้งหมดไว้บนฉลากแพ็กเกจด้านนอกที่ห่อสินค้าไว้อีกช้ันหนึ่ง เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าการมองจากขวดใสๆ และเป็นเหตุผลให้น้ำดื่มสิงห์ขวดใสยังไม่เริ่มจำหน่ายแบบปลีก แต่หากในอนาคตข้อกฏหมายในเรื่องเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น ทางสิงห์ก็พร้อมที่จะจำหน่ายแบบแยกขวด หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกี่ยวกับฉลากบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาใช้ได้ในอนาคต
3. ทำไมต้องเริ่มขายผ่านโลตัส
เป็นเหตุผลที่ต่อเนื่องมาจากเรื่องความชัดเจนของข้อกฏหมายที่ต้องการให้ฉลากสามารถแสดงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน และน้ำดื่มสิงห์ตัดสินใจที่จะเลือกขายแบบแพ็ก ดังนั้น ช่องทางจำหน่ายที่ตอบโจทย์ที่สุดในการนำร่องคือ โลตัส เพราะลูกค้านิยมเข้าไปซื้อสินค้าเครื่องใช้จำเป็นต่างๆเพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน และมักซื้อแบบยกแพ็ก มากกว่าช่องทางอื่นๆ รวมทั้งยังมีสาขากระจายไปทั่วทั้งประเทศ และมี Store Format ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมทั้งสาขาใหญ่ และสาขาเล็กอย่าง Go Fresh ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มครอบครัวได้แบบใกล้ชิด ประกอบกับเป็นพันธมิตรที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในทิศทางเดียวกัน
4. ขวดแบบใส ช่วยลดพลาสติกได้มากแค่ไหน
น้ำดื่มสิงห์ ได้เปลี่ยนเครื่องจักรในโรงงานวังน้อย อยุธยา เพื่อรองรับการผลิตขวดแบบใสโดยเฉพาะ โดยคาดว่า ในช่วงนำร่องนี้จะสามารถลดปริมาณพลาสติกลงได้มากกว่า 16 ตันต่อปี คิดเป็นระยะทางรวมกันกว่า 7 แสนกิโลเมตร หรือเทียบเท่าได้กับการเดินทางรอบโลก ซึ่งหากในอนาคต มีการเพิ่ม SKU ไปยังบรรจุภัณฑ์ขนาดอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้อีกในปริมาณมากยิ่งขึ้น
5. ไม่มีฉลาก ต้นทุนการผลิตลดลงหรือไม่
แม้ว่าขวดแบบใสจะไม่มีฉลากพลาสติกข้างขวด แต่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะต้องเพิ่มการพิมพ์ที่แพ็กเกจด้านนอกแทน ประกอบกับต้องมีการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อรองรับการพิมพ์ขวดแบบปั๊มนูน จากเดิมที่เป็นโมแบบขวดเรียบ ทำให้ต้องมีต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย การเปลี่ยนมาเป็นขวดใส จึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน แต่ต้องการเพิ่ม Positive Impact ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งการลดปริมาณพลาสติกลง รวมทั้งการนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น แม้ว่าสิงห์จะใช้ฉลากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้อย่าง OPP แต่ในระบบรีไซเคิลยังมีโรงงานทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ทั้ง 100% ที่จะมีเทคโนโลยีรองรับ การผลิตขวดแบบใสจึงสามารถนำเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลได้ง่ายกว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิลรายเล็กหรือรายใหญ่
6. แผนขยายตลาดขวดใส
การขยายตลาดขวดแบบใส จะเริ่มชัดเจนหลังความชัดเจนที่มากขึ้นของข้อกฏหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และหลังจากนั้นทางน้ำดื่มสิงห์จะขยายช่องทางจำหน่ายขวดแบบใส ทั้งในลักษณะของการแยกขายเป็นขวด หรือเพิ่มขนาดบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำมาทำเป็นแบบขวดใสเพิ่มเติม ซึ่งจะพิจารณาจากขนาดที่มีนัยสำคัญที่เปลี่ยนแล้วช่วยลดพลาสติก ดังนั้น หากพิจารณาจากสัดส่วนของตลาดและพอร์ตโฟลิโอแล้ว ไซส์ที่น้ำดื่มสิงห์จะทำเป็นขวดใสต่อไปคือ ขนาด 600 มิลลิลิตร นั่นเอง
7. แผนขยายกำลังผลิตขวดใส
ปัจจุบันโรงงานวังน้อย ที่อยุธยา เป็นฐานสำคัญเพียงแห่งเดียวที่รองรับการผลิตขวดแบบใส โดย น้ำดื่มสิงห์มีแผนขยายไลน์การผลิตขวดแบบใสเพิ่มเติมให้ครบทั้ง 5 แห่ง ภายในปี 2025 โดยอีก 4 โรงงาน ประกอบด้วย สิงห์บุรี มหาสารคาม เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีแผนลทุนเพิ่มเติมภายในโรงงานอีก 1 แห่ง เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำดื่มโดยรวมให้รองรับการเติบโตของตลาด ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว และสามารถเติบโตได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้แล้ว ขณะที่ สิงห์ตั้งเป้าการเติบโตในปีนี้ 7% หรือเพิ่มยอดขายได้อีก 100 ล้านลิตร รวมทั้งขยายมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 20.5%
8. น้ำดื่มสิงห์ขยับช้ากว่าคู่แข่งหรือไม่
แม้ว่าสิงห์จะไม่ใช่รายแรกของตลาดในการทำขวดแบบใส แต่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด ในฐานะผู้นำตลาด เมื่อลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนแล้วจะช่วยสร้างอิมแพ็คในการลดพลาสติกลงได้จำนวนมาก ที่ผ่านมาสิงห์ให้ความสำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาต่อเนื่อง ทั้งการเป็นหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ของตลาดน้ำดื่มที่เลิกใช้พลาสติกปิดบริเวณฝาขวด (Cap Seal) ซึ่งช่วยลดปริมาณพลาสติกลงได้จำนวนมาก รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุ PET1 มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถรีไซเคิลได้ 100% รวมทั้งสนับสนุนการใช้น้ำดื่มขวดแก้ว เพื่อสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยสิงห์มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า และการนำวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิตมาต่อยอดเพื่อลดการสร้างขยะ และเปลี่ยนให้เกิดเป็นคุณค่าใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การนำกากมอลต์มาทำเป็นแผ่นสำหรับใช้วางสินค้าในการขนส่งต่างๆ เป็นต้น
9. น้ำดื่มสิงห์จะใช้ rPET เมื่อไหร่
ที่ผ่านมาสิงห์ใช้ rPET มานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาผลิตเป็นขวดน้ำดื่ม โดยที่ผ่านมา ได้นำเส้นใยจากพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นลัง หรือพาเลทที่ใช้ในโรงงาน รวมทั้งนำมาเป็นของพรีเมียมต่างๆ ของบริษัท นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปสนับสนุนแบรนด์ไทยอย่าง Reroute และ PIPATCHARA เพื่อมีส่วน Educated ตลาดและผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญในการแยกขยะ และการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
ส่วนการนำ rPET มาใช้เป็นขวดน้ำดื่ม อยู่ระหว่างกำลังศึกษาผลกระทบและการตอบรับของผู้บริโภค เนื่องจากเพิ่งผ่านข้อกฏหมายมาได้ไม่นาน และบริษัทต้องการให้มีความพร้อมในทุกด้าน ท้ังความพร้อมของซัพพลายเออร์ กระบวนการผลิต ต้นทุน รวมทั้งการรักษามาตรฐานของน้ำดื่มในระดับสูงสุด เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งห่วงโซ่
10. เมื่อไม่มีฉลากจะเสียโอกาสทางการตลาดหรือไม่
เนื่องจาก ฉลากข้างขวด เป็นทั้งพื้นที่ในการสร้าง Branding เป็นหนึ่งในเครื่องมือทำตลาด หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ของแบรนด์ หรือการทำ Social Campaign ร่วมกับพันธมิตร เช่น โครงการตามหาเด็กหายร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งปัจจุบันฉลากยังมีอยู่ในผลิตภัณฑ์บาง SKU ประกอบกับยังมีบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มแพ็กด้านนอก ซึ่งสามารถนำมาทดแทนได้ ประกอบกับทางสิงห์เองยังมีช่องทางในการสื่อสาร หรือทำการตลาดในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทางสิงห์ยอมปรับเปลี่ยนเพราะมองเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนที่ต้องบาลานซ์ไปกับการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ ขวดใสรักษ์โลก รีไซเคิลได้ 100% น้ำดื่มสิงห์ ยังได้ร่วมมือกับทางโลตัส เพื่อจัดแคมเปญ “แยก แลก ลุ้น” ปลุกพลังผู้บริโภคร่วมกันจุดพลุเพื่อการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย 1. แยก : เมื่อน้ำดื่มสิงห์ ขวดใสรักษ์โลก ครบ 3 แพ็ก จะได้รับถุง Recycle Bag สำหรับแยกขวด PET เพื่อนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคืนทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือนที่โลตัส 30 สาขาที่ร่วมโครงการ 2.แลก : ผู้บริโภคสามารถร่วมสนุกเพื่อต่อยอดการรักษ์โลก โดยขวด PET ทุกขวดที่เก็บกลับมา สามารถนำไปแลกของรางวัล เช่น กระเป๋าผ้า แก้วน้ำ Tumbler หรือลุ้นรับ เสื้อยืดลายน้ำดื่มสิงห์ และ 3.ลุ้น : ทุกยอดการซื้อ ยังมีสิทธิ์ลุ้น เสื้อผ้าคอลเลกชัน “Singha Drinking Water X Reroute” และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ผ่านแอปพลิเคชัน Lotus’s SMART Apps