ด้วยแนวคิด “โรงงานอยู่ที่ไหน ป่าต้องเขียวที่นั่น” สะท้อนได้ว่า SCG ให้ความสำคัญกับการเป็นพลเมืองที่ดีในแต่ละพื้นที่ที่ธุรกิจได้เข้าไปตั้งอยู่ ทั้งการมีส่วนช่วยดูแล ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน พร้อมมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน ภายใต้กลยุทธ์ ESG 4 Plus ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. มุ่ง Net Zero 2. GO Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ และ 4. ย้ำร่วมมือ เพื่อเป็นแนวทางสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด หรือ เอสซีจี ลำปาง อีกหนึ่งฐานการผลิตปูนซิเมนต์ในภาคเหนือ ด้วยสัดส่วนการผลิตราว 15% ของกำลังผลิตรวมทั้งหมดของเอสซีจี ซึ่งตลอด 30 ปี ที่ได้ขับเคลื่อนโรงปูนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ก็ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคชุมชนและสังคมในพื้นที่ เพื่อร่วมกันหาโซลูชันการพัฒนาที่เข้าใจความต้องต้องการและปัญหาภายในพื้นที่ รวมถึงสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน โดยนำกลยุทธ์หลักอย่าง ESG 4 Plus มาปรับเข้ากับการขับเคลื่อนแบบ Area-based เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่สร้างประโยชน์และสามารถจับต้องได้ให้กับชุมชน
คุณวรการ พงษ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี ลำปาง ขับเคลื่อนธุรกิจโดยมุ่งเน้น ‘สร้างงาน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นพลเมืองดีของลำปาง’ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการขับเคลื่อนในแต่ละแกนของ ESG 4 Plus ทั้งการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งในภาคการผลิต หรือการดำเนินธุกิจ โดยตั้งเป้าลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการผลิตปูนซิเมนต์ เหลือเพียง 60% โดยหันมาใช้เชื้อเพลิงไบโอแมส หรือเชื้อเพลิง RDF จากขยะพลาสติก หรือขยะมูลฝอยต่างๆ จากชุมชน ในสัดส่วนประมาณ 40%
ขณะเดียวกัน ยังมีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้ Renewable เป็น 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสัดส่วน 26% ด้วยการเพิ่มแหล่งพลังงาน Solar Floating ในการขยายเฟสที่ 3 ของแผนพลังงานทดแทนเพิ่มเติม โดยโรงปูนลำปางยังเป็นโรงงานแห่งแรกในเครือที่เปลี่ยนมาใช้รถบรรทุก EV Truck ทั้งหมด จำนวน 12 คัน สำหรับวิ่งภายในโรงงาน รวมทั้งเป็นรายแรกที่พัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 90% ของกำลังผลิต และจะขยับเป็น 100% ในอนาคต
ซึ่งกระบวนการผลิตของปูนคาร์บอนต่ำนี้จะสร้างคาร์บอนน้อยกว่าปูนทั่วไป 0.05 ตัน CO2 ต่อการผลิต 1 ตัน และลดการใช้พลังงานภาพรวมลงได้กว่า 38% พร้อมทั้งได้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย หมู่เกาะมัลดีฟส์ และอยู่ระหว่างการพัฒนารุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่ารุ่นแรกเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งตอบโจทย์การขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net zero ของเอสซีจี
ด้านการทำงานร่วมกับชมุชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เอสซีจี ลำปาง ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนที่เป็นเกษตรกร โดยได้ต่อยอด ‘โครงการรักษ์ภูผามหานที‘ เพื่อดูแลป่าต้นน้ำ ผ่านเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการสร้างฝาย สระพวง หรือแก้มลิง ที่นอกจากช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์แล้ว แก้ภัยแล้วแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าในพื้นที่ได้ด้วย ทำให้ไม่มีการเกิดไฟป่ามา 7-8 ปีแล้ว โดยมีพื้นที่ป่าที่ปูนลำปางดูแลอยู่มากกว่า 7,300 ไร่ และดำเนินการสร้างฝายแล้วกว่า 8.8 หมื่นแห่ง ใน 60 ชุมชน พร้อมช่วยอนุรักษ์พื้นที่ป่าได้มากกว่า 2.35 แสนไร่ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนแล้ว 16 แปลง ขณะที่การมีน้ำอย่างพอเพียงก็นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะสามารถเพาะปลูกพืชผักได้หลากหลายและมีผลผลิตที่ดีมากขึ้น
“การขับเคลื่อนงานในชุมชนต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนร่วมมือกับภาคธุรกิจ คือ ความจริงใจ และการขับเคลื่อนต่างๆ นั้น สามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเอสซีจี ลำปาง เน้นการทำงานและเรียนรู้ ร่วมกับชุมชน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีจากภาคธุรกิจ และภูมิปัญญาของชุมชนที่ตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อหาโซลูชันที่สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และสามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน เช่น การขับเคลื่อนโครงการ ‘ชิงเก็บ ลดเผา’ ที่เอสซีจี เข้าไปรับซื้อ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างฟางข้าว เปลือกข้าวโพด กิ่งไม้ใบไม้ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงไบโอแมส ที่ช่วยลดทั้งต้นทุนในการซื้อเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับนโยบาย Net zero ขององค์กร นอกจากนี้ ยังป้องกันการเผาซึ่งเป็นต้นเหตุปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งจากโครงการนี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนเพิ่มได้กว่า 1.2 แสนบาท และลดพื้นที่การเผาไปกว่า 300 ไร่ รวมทั้งลดต้นทุนจากพลังงานฟอสซิลลงได้กว่า 2 หมื่นบาท ”
ด้าน คุณโอบบุญ แย้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสซีจีดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus เร่งสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่ ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยทุกธุรกิจมุ่งใช้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก และร่วมกับทุกภาคส่วนลดเหลื่อมล้ำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้แก่ โครงการรักษ์ภูผามหานที เพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งทำไปแล้วกว่า 120,000 ฝาย และโครงการพลังชุมชน อบรมให้ความรู้ เปลี่ยนวิธีคิด สร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มจากการเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นให้โดดเด่นและตอบความต้องการตลาด ปัจจุบันมีผู้ร่วมเข้าทั้ง 2 โครงการ กว่า 200,000 คน จาก 500 ชุมชน ใน 37 จังหวัด เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งไปทั่วประเทศ