การประกาศแผนขับเคลื่อนธุรกิจของ SHR หรือ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทระดับนานาชาติ ในเครือ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) นอกจากประกาศเป้าหมายเชิง Performance ที่ต้องการผลักดันรายได้ให้เติบโตแตะ 12,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มระดับกำไร EBITDA Margin ให้เติบโต 3-5% ตามปกติแล้ว
ยังมีแผนขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวทาง Nature-based Solutions ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน 2 มิติ ประกอบด้วย การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น 30% ครอบคลุมพื้นที่โครงการ โดยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้ง 2 มิติ ได้ภายในปี 2030
คุณไมเคิล มาร์แชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายให้การดำเนินธุรกิจของเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ท้ังการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยวางเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2030 พร้อมตั้งเป้าลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงในอัตรา 5% ต่อปี ตามแผน NDC Roadmap ของประเทศ ด้วยการเดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในกลุ่มโรงแรม ทั้งในไทยและมัลดีฟส์ รวมถึง โซ/ มัลดีฟส์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 20%
เสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอผ่าน Biodiversity
ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะมุ่งส่งเสริมการสร้างผลกระทบเชิงบวก ผ่านการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiverdity มากขึ้นอีก 30% ภายในปี 2030 เช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุ์สิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ ภายในพืนที่โดยรอบที่โครงการตั้งอยู่ และสามารถพบสิ่งมีชีวิต 21 ชนิด ที่อยู่ในกลุ่ม Red list หรือกลุ่มบัญชีแดงเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) อยู่บ่อยครั้งในพื้นที่โครงการ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมลงนาม MoU กับกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ของรัฐบาลมัลดีฟส์ เพื่อสนับสนุนพื้นที่อนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective Area-Based Conservation Measures: OECMs) ภายในโครงการครอสโร้ดส์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 3.1 ล้านตารางเมตร หรือกว่า 31% ของพื้นที่โครงการ โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย
“แผนขับเคลื่อนความยั่งยืนมีส่วนส่งเสริมการเติบโตได้ตามเป้าหมายของ SHR เนื่องจาก Destination ส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวกลุ่ม Blue tourism ที่นอกจากบรรยากาศ และความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว การมีความหลากหลายทางชีวภาพยังสามารถเพิ่ม Attraction ที่ช่วยส่งเสริมประสบการณ์ที่แตกต่างให้ผู้เข้าพักได้มากขึ้น เช่น การศึกษาเส้นทางธรรมชาติทาง Biological หรือ Ecological ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และ SHR ได้ครีเอทกิจกรรมผ่านศูนย์เรียนรู้ทางทะเลในโครงการทั้งที่เกาะพีพี และมัลดีฟส์ โดยตั้งเป้าต้อนรับผู้เข้าชมตลอดทั้งปีมากกว่า 5 หมื่นคน รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน การใช้ผลผลิตและวัตถุดิบที่ปลูกและจัดหาจากท้องถิ่น เพื่อนำเสนอเมนูจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (Farm to Table) และอาหารทะเลสดใหม่แก่แขกที่เข้าพักอีกด้วย ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้จากฝั่ง Non-room เพิ่มมากขึ้น พร้อมสร้างเอกลักษณ์จากความแตกต่าง และทำให้มีพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่งเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย”
ตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่อง 1.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ SHR ในปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 1 หมื่นล้านบาท จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา รวมถึงข้อได้เปรียบจากสถานที่ตั้งโรงแรมในเครือที่อยู่ในจุดหมายปลายทางสำคัญ ส่วนเป้าหมายในปี 2567 นี้ ตั้งเป้ามีรายได้เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลกำไร EBITDA Margin ให้เติบโต 3 – 5%
ทั้งนี้ได้วาง 4 กลยุทธ์ที่จะใช้ขับเคลื่อนเพื่อเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบด้วย
– ขับเคลื่อนประสิทธิภาพ มุ่งสร้างการเติบโต (Drive efficiency, ignite growth) ผ่านปัจจัยการเติบโต 3 ด้าน ได้แก่ อัตราเฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ซึ่งตั้งเป้าเติบโตขึ้น 25% จากยอดจองห้องพักในมัลดีฟส์ช่วงไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ดี และค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 20% จากการปรับปรุงห้องพักของโรงแรมในฟิจิและไทย และการเปิดตัวของโซ/ มัลดีฟส์ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าการเติบโตของรายได้อื่นนอกเหนือจากการเข้าพัก (Non-room Revenue) ที่ 15% ทั้งจากอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีแผนเปิดตัวบีชคลับทราย (SAii) ในทุกรีสอร์ท และรองรับดีมานด์จากตลาด Mice
– ปลดล็อคศักยภาพของพอร์ตโฟลิโอ (Unleash the power of the portfolio) ด้วยเป้าหมาย ยกระดับพอร์ตโฟลิโอและหมุนเวียนสินทรัพย์ (Portfolio Enhancement) โดยตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Return Rate: IRR) 12 – 15% พร้อมต่อยอดแผนปรับปรุงโรงแรมในประเทศไทยที่ ทราย ลากูน่า ภูเก็ต และ ทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ สำหรับตลาดสหราชอาณาจักร บริษัทฯ จะดำเนินกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่และรีแบรนด์โรงแรมในพื้นที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว อาทิ แมนเชสเตอร์ เอดินเบอระ เลสเตอร์ และกลาสโกว์
– เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด (Scale Without Limits) เพื่อตอบรับการเติบโตกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อม ยกระดับแบรนด์ (Brand Enhancement) โดยสร้างการจดจำแบรนด์ ทราย (SAii) ในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวแบบลักชูรีอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์ระดับโลก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวว่าการเข้าพักจะสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด พร้อมต่อยอดความเชื่อมั่นแบรนด์สู่การเติบโตภายใต้ข้อจำกัดที่ลดลง โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนโรงแรม ในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมดจำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่ง ภายในระยะเวลา 5 ปี
– ปักหมุดรุกตลาดใหม่ (Beyond Borders) ผ่านการจัดสรรงบลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อซื้อและควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า โดยยังคงพุ่งเป้าไปที่จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวในภาคพื้นทวีปยุโรปในแถบเมดิเตอร์เรเนียน สหราชอาณาจักร แถบมหาสมุทรอินเดีย เอเชียแปซิฟิค และฟิจิ เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ และสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนในด้านรายได้ รวมถึงลดความผันผวนทางฤดูกาล (Seasonal Effect) ของโรงแรมในเครืออีกด้วย
” SHR ยังคงรักษาตำแหน่งผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของไทย ผ่านการปรับปรุงโรงแรม เพื่อเพิ่มอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวัน (Average Daily Rate: ADR) ในไทยและฟิจิให้สูงขึ้น 20% นอกจากนี้ การเปิดตัว โซ/ มัลดีฟส์ (SO/ Maldives) รีสอร์ทระดับ 5 ดาว ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังช่วยเสริมความแข็งแกร่งของโครงการ ‘ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์’ (CROSSROADS Maldives) ในการตอบรับความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มนักท่องเที่ยวนานาชาติ และเติมเต็มให้ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ เป็นผู้นำจุดหมายปลายทางแห่งการพักผ่อนและไลฟ์สไตล์ที่ครบวงจรที่สุดในหมู่เกาะมัลดีฟส์ นอกจากนี้ ยังได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มนักลงทุน จากการออกหุ้นกู้อายุ 3 ปี ที่มียอดจองซื้อสูงเกินกว่าเป้าหมาย ปิดการขายด้วยมูลค่า 1,300 ล้านบาท ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ผันผวน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทฯ ในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนและรองรับกลยุทธ์การลงทุนในอนาคต”