ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ก้าวสู่ปีที่ 50 กำหนดแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2567-2569) ขับเคลื่อน 3 มิติหลักเข้มข้นขึ้น เพื่อมุ่งสร้างตลาดทุนไทยที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Delivering Market Quality x Growth)
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่า การดำเนินงาน SET ในปีที่ผ่านมา ยังสามารถรักษามาตรฐานการลงทุนทั้งในตลาด SET และ mai โดยสามารถระดมทุนรวมได้ 38,260 ล้านบาท จากบริษัทที่เข้ามาร IPO กว่า 40 แห่ง โดยมีมูลค่า IPO สูงสุดเป็นอันดับ 7 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งยังมี 12 บริษัจจดทะเบียน ที่อยู่ในกลุ่ม New Economy รวมทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจ SME หรือสตาร์ทอัพ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม LIVEx มากกว่า 3,000 แห่ง และในปัจจุบันมี 4 บริษัทที่เริ่มทำการซื้อขายผ่าน LIVEx แล้ว
นอกจากมิติด้านธุรกิจผ่านการสร้างโอกาสในการลงทุนและระดมแล้ว SET ยังให้ความสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนผ่านการลงทุนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยได้ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ การพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ หรือการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อสนับสนุนในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและทางสังคม ทั้งการประกาศเป้าหมายขับเคลื่อนสู่ Net zero ภายในปี 2050 การสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการขับเคลื่อน ESG Ecosystem ผ่านการมีเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งในมิติของสังคมที่มุ่งเน้นส่งเสริม Financial Literacy ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม และการดูแลด้านธรรมมาภิบาลในการทำธุรกิจ
สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 50 ทาง SET เน้นขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” พร้อมวางยุทธศาสตร์ 3 ปี (2567-2569) เพื่อยกระดับตลาดทุนไทย ให้ทั้ง Work และ Better สำหรับทกุคน โดยมีเป้าหมาย “สร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน” ผ่านทั้ง 3 แกนหลัก โดยจะดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้น ได้แก่
1. การยกระดับความเชื่อตลาดทุน ผ่านการขับเคลื่อนใน 2 แนวทาง คือ
1.1 เสริมสร้างคุณภาพและเครื่องมือในการปกป้องผู้ลงทุน ผ่านการพัฒนาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการจัดทำระบบ Financial Data Health Check และ Surveillance Prevention and Analytics (SPA) รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียน และนำมาใช้ประมวลผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น
1.2 ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจจับข่าวปลอมหลอกลงทุนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อเตือนผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายงานไปยัง Anti-Fake News Center ในการดำเนินการเตือนสาธารณชนต่อไป นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบที่จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการสื่อโซเชียลในการนำข่าวปลอมออกและปิดเพจปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่มากขึ้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567
2. เสริมศักยภาพการแข่งขัน ผ่านการขับเคลื่อนใน 2 แนวทาง ต่อไปนี้
2.1 เพิ่มความน่าสนใจดึงดูดการลงทุน ทั้งในมิติของ Supply side ผ่านการสนับสนุนบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Target industries) เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร หรือใน Demand side โดยเพิ่มทางเลือกและผลิตภัณฑ์ในการลงทุนในการลงทุนอย่างหลากหลาย เช่น มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลงทุนรุ่นใหม่ หรือสอดคล้องกับภาวะตลาดเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยง
2.2 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ขยายความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรทั้ง IT Service และ Data Solution
3. สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ผ่านการนำมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Socail) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG มาใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานของตลาดทุนและบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องไปกับบริบทโลก ทั้งการขับเคลื่อนร่วมกับบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ ภายนอกองค์กร รวมถึงยกระดับกระบวนการในการทำงานภายในเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net zero ขององค์กรที่ตั้งไว้ภายในปี 2050
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน SET กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทย 28 แห่ง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน DJSI ซึ่งถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังมีหลายแห่งที่ยังติดขัดทั้งในเรื่องเครื่องมือ รวมทั้งต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการ เพราะหากพิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนใน SET ราว 800 แห่ง มีบริษัทที่สามารถจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนได้เพียง 74% หรือ 658 บริษัทเท่านั้น โดย 193 แห่ง ที่สามารถรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กรได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 55 แห่ง ที่สามารถรายงานข้อมูลคาร์บอนที่ได้รับการรับรองจากบุคคลที่ 3 หรือจากทาง อบก. รวมทั้งสามารถประกาศเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ Net Zero ได้
“การจัดทำรายงานข้อมูลของภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีทั้งเครื่องมือ และต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ในการเข้าสู่กระบวนการรับรองด้านคาร์บอนเครดิตขององค์กร ก็จะมีทั้งต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูล ต้นทุนในการคำนวนเพื่อแปลงข้อมูลดิบมาเป็นข้อมูลด้านคาร์บอน รวมทั้งขั้นตอนในการรับรองจากบุคคลภายนอก ซึ่งปัจจุบันทาง SET ได้ทำการพัฒนาเครื่องคำนวนข้อมูลคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นเหมือนเครื่องคิดเลขกลางสำหรับภาคธุรกิจนำไปใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะเห็นพัฒนาการที่ดีมากขึ้นของจำนวนธุรกิจที่สามารถได้รับการรับรองด้านคาร์บอนฟุตพรินท์”
สำหรับการขับเคลื่อนมิติทางสังคม จะมุ่งเน้นสร้างความแข็งแรงให้กลุ่มธุรกิจครอบครัว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ เพราะเกินครึ่งของธุรกิจใน SET หรือ 57% มีพื้นฐานมาจากธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีการจ้างงานรวมกันมากกว่า 9 แสนตำแหน่ง และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่เข้ามา IPO ราว 60-70% ก็มาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อน แต่ขณะเดียวกัน ยังมองเห็นปัญหาในหลายๆ มิติของธุรกิจครอบครัวทำให้หลายๆ ธุรกิจไม่สามารถรักษาการเติบโตแบบรุ่นสู่รุ่นไว้ได้ ทั้งข้อจำกัดในการปรับตัวจากธุรกิจครอบครัวสู่การบริหารแบบมืออาชีพ ความขัดแยังภายใน หรือการไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังมุ่งขยายการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Social Enterprise อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การยกระดับด้านธรรมาภิบาล จะมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานดูแลด้านกระบวนการยุติธรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาการสื่อสารในรูปแบบ 2 Ways Learning เพื่อเข้าใจกลไกและการทำงานของตลาดทุน เพื่อยกระดับความโปร่งใสและความเชื่อมั่นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย