น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต มีตัวเลขที่น่าสนใจคือ 97 % ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกเป็น น้ำทะเลในมหาสมุทร มีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด และมีน้ำจืดเพียง 0.3 ส่วนเท่านั้นที่เป็นน้ำผิวดินที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
สำหรับประเทศไทยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม และปนเปื้อนสารพิษอันมีสาเหตุมาจากชุมชนเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ดังนั้นเรามีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแล รักษา ทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พอเพียง ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลย์ของระบบนิเวศ และสมบูรณ์ต่อการนำมาใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในอนาคต ส่วนในระดับโลกปี 2023 นับเป็นครึ่งทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องในวันน้ำโลกประจำปี 2023 นี้ ว่า“Accelerating change” หรือ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” โดยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน “Be the change you want to see in the world.” หรือ “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณอยากเห็นในโลกใบนี้”
เพื่อจุดประกายความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ให้กับกลุ่มเยาวชนท้องถิ่น สร้างความพร้อมในการเป็นพลเมืองสิ่งแวดล้อม ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) ผนึกกำลังสร้างสรรค์โครงการรักษ์นํ้ามิตซุยกุ ปีที่ 3 โดยจัดกิจกรรม “ค่ายรักษ์น้ำ” เพื่อปั้นเด็กไทยให้มีใจรักสิ่งแวดล้อม ดูแลสายน้ำบ้านเกิดของตัวเอง ตามแนวคิด “รักษ์น้ำ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” สอดรับกับพันธกิจระดับประเทศและระดับโลก
ล่าสุดจัดกิจกรรม “ค่ายรักษ์น้ำ” ในพื้นที่ทะเล จ.กระบี่ โดยมีตัวแทนครูและนักเรียน จากโรงเรียนบ้านเกาะจำ อ.เหนือคลอง และโรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์ อ.อ่าวลึก ทั้งหมด 30 คน ร่วมเวิร์คชอป เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากห้องเรียนสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียนรู้วิถีธรรมชาติสัตว์น้ำและท้องทะเล ณ อ่าวมาหยา อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆได้รู้จักรัก หวงแหน และปกป้องสายน้ำบ้านเกิดของตัวเอง
“โครงการรักษ์นํ้ามิตซุยกุ” ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งต่อองค์ความรู้ในการอนุรักษ์แหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ โดยจุดมุ่งหมายในปีนี้ เป็นการขยายโครงการรักษ์น้ำ ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ โดยดำเนินการกับเด็กและครูใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค แบ่งออกเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เริ่มจากในพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้ได้เรียนรู้วิธีการรักษาต้นน้ำจากป่า มาสู่พื้นที่กลางน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี ให้ได้เรียนรู้และรักษ์น้ำในวิถีชีวิตริมน้ำโขง จนมาถึงพื้นที่ปลายน้ำ จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ได้เรียนรู้ความสำคัญของน้ำในการทำมาหากิน ด้วยการเลี้ยงปลากระพง ก่อนที่จะส่งต่อมายังในพื้นที่ท้องทะเล จังหวัดกระบี่เป็นค่ายสุดท้าย ให้ได้เรียนรู้ การอนุรักษ์แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบห้องเรียนธรรมชาติ
จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานสิ่งแวดล้อมศึกษาของประเทศไทย ที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ให้สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล อนุรักษ์ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้ โดยมีเครือข่ายโรงเรียนอีโคสคูล (Eco School) หรือโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบและความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็ก
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ที่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ที่มุ่งมั่นส่งเสริมและให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอนุรักษ์น้ำและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน โดยนักเรียนในเครือข่ายโรงเรียนอีโคสคูล และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุปีที่ 3 ซึ่งส่งผลดีต่อเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องระบบนิเวศ ทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนได้รับการพัฒนาด้านทักษะไม่ว่าจะเป็น ทักษะการเก็บข้อมูล การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การทดลอง การตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม (น้ำ-ดิน) อย่างง่าย และการผลิตคลิปวีดิโอสั้นเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเด็ก ๆ ได้รับประสบการณ์ตรงจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง และเมื่อเด็กกลุ่มนี้กลับไปที่โรงเรียน เขาสามารถถ่ายทอดและต่อยอดสิ่งที่ได้รับ ไปสู่กิจกรรมการอนุรักษ์น้ำในโรงเรียน ตลอดจนเป็นผู้นำในกลุ่มเด็ก ๆ ด้วยกันเองในการขับเคลื่อนการทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์น้ำ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบได้”
มร.โอเมอร์ มาลิค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และอินโดไชน่า กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจของ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด คือความรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสังคม เราจึงมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ เกิดจากความต้องการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องน้ำซึ่งมีความสำคัญ ต่อระบบนิเวศและการดำเนินชีวิต เพื่อตอกย้ำปรัชญาของซันโทรี่ ที่ว่า ‘Growing for Good’ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
“ในปี2566 นี้ โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยเป็นการทำงานร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา หรือ EEC และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘รักษ์น้ำ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน’ (Save Water and Save Nature for a Sustainable Thailand) โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การจุดประกายให้คุณครู สามารถส่งต่อความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน รวมทั้งสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาของท้องถิ่น เกิดมุมมอง และทักษะที่รอบด้าน มองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและปกป้องดูแลทรัพยากรน้ำในบ้านเกิดของตนเอง เพื่อนำไปสู่การสร้าง ‘พลเมืองสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของซันโทรี่ ที่เติบโตไปพร้อมกับการสร้างพลังบวกและความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมชาติในการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์น้ำต่อไป”
อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวว่า “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาให้ความสำคัญกับการทำงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติร่วมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ทั่วภูมิภาค เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ ซึ่งในเวลา 3 ปีที่ผ่านมาโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ เรื่องน้ำที่เชื่อมต่อกับทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ ทำให้เด็กๆในพื้นที่ได้มีความเข้าใจว่าการดำรงชีวิตของตัวเอง สร้างผลกระทบอะไรให้กับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และทะเล รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการดูแลสิ่งแวดล้อมระดับชาติในสังคมของเยาวชน นอกจากนี้การได้รวมตัวกับภาครัฐและเอกชน ก่อให้เกิดพลัง และเกิดการสนับสนุนอย่างทั่วถึง โครงการในปีนี้จึงมีโอกาสสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ ในการเพิ่มเติมองค์ความรู้เรื่องน้ำผ่านห้องเรียนธรรมชาติ ให้กับผู้เข้าร่วมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นความหวังที่จะได้เห็นเยาวชนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต”
ในส่วนคุณครูที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมแสดงความรู้สึกไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจาก วินัส วารีกุล หรือ ครูวิด จากโรงเรียนบ้านเกาะจำ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า“โรงเรียนของเรามีทะเลล้อมรอบ มีทั้งชายหาดและป่าชายเลน ซึ่งต้องเจอกับปัญหาทิ้งขยะลงทะเล การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเรื่องขยะ การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นสำคัญต่อการรักษาน้ำอย่างไร ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าค่ายรักษ์น้ำครั้งนี้ ได้เรียนรู้และจะนำไปส่งต่อให้เพื่อนๆ ส่งต่อให้กับครอบครัวของเขาต่อไป”
ส่วน ศิรินทิพย์ เพชรหนองชุม หรือ ครูเปิ้ล จากโรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่กล่าวว่า “ได้รับความรู้ และแรงบันดาลใจในการส่งต่อความรู้เรื่องการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรเป็นอย่างมากค่ะ เป็นโครงการที่ดีมากๆ ต้องขอบคุณทางบริษัทซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ดที่จัดค่ายแบบนี้ขึ้นมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พานักเรียนออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เด็กๆ สนุกกันมาก และที่สำคัญเขาได้เรียนรู้ ได้เห็นกับตา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และได้เปิดโลกกว้าง จากเดิมที่พวกเขาเรียนรู้ทุกอย่างในห้องเรียนสี่เหลี่ยม การเข้าค่ายรักษ์น้ำครั้งนี้ ยิ่งทำให้พวกเขารักและหวงแหนทรัพยากรบ้านเกิดมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันตัวครูเองก็ได้พัฒนาเจตคติที่ดี นำความรู้นี้ไปสอนเด็กๆ ต่อไปค่ะ”
สำหรับมุมมองของเด็กๆ ที่เข้าร่วม “ค่ายรักษ์น้ำ” จ.กระบี่ อย่าง ด.ช. สุกฤษฎิ์ อินบัว หรือ นิค นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านเกาะจำ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เล่าถึงความประทับใจในการเข้าค่ายรักษ์น้ำครั้งนี้ว่า “ผมชอบตอนดำน้ำที่สุดครับ และฉลามไม่น่ากลัวอย่างที่เราคิด ฉลามในหนังนั้นน่ากลัว แต่พอเราได้ดำน้ำลงไปเห็นฉลาม เราได้เรียนแล้วว่าเขามีนิสัยอย่างไร และเขารักษาสมดุลให้กับท้องทะเล เราต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เขาสูญพันธุ์ครับ ผมจะกลับไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง แล้วช่วยกันไม่ทิ้งขยะลงทะเลครับ”
ในขณะที่ ด.ช. ปริยวิศย์ รอบคอบ หรือ โกโก้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์ จ.กระบี่ ก็เล่าว่า “ได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์หลายอย่างเลยครับ ในเรื่องอนุรักษ์น้ำและทรัพยากร บางเรื่องเราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ผมไม่เคยรู้ว่าปลาฉลามมีความสำคัญกับระบบนิเวศมาก การเข้าค่ายรักษ์น้ำนี้ มันต่างจากการเรียนในห้องมาก เราอยู่ในห้องเรียน เราจำแล้วเราก็ลืม แต่วันนี้ที่เรามาค่ายรักษ์น้ำ เราได้ทำ เราจำ และเราจะไม่ลืม แต่เราจะนำไปปฏิบัติต่อครับ”
ตลอดระยะเวลา 3 วันของกิจกรรมค่ายรักษ์น้ำ จ.กระบี่ นักเรียน และคุณครูที่ร่วมโครงการ ได้เรียนรู้การอนุรักษ์แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบห้องเรียนธรรมชาติ ได้เรียนรู้ความสำคัญของน้ำ ได้ร่วมกันคิดวิธีดูแลสายน้ำบ้านเกิดของตัวเองผ่านกิจกรรมมิตซุยกุ เวิร์คช็อป นอกจากนั้นยังได้เปิดโลกกว้าง สัมผัสความงามของท้องทะเลในกิจกรรมดำน้ำตื้น และยังได้ทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของฉลาม ผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเลมากยิ่งขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล ก่อนที่จะปิดท้ายกิจกรรมด้วยการ สรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากการสัมผัสธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากประสบการณ์จริง พร้อมนำเสนอผลงานร่วมกันระหว่างนักเรียน และคุณครู
ทั้งนี้ โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุได้วางแผนการดำเนินงานโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 3 ปี โดยปีแรกคือปี 2566 เป็นจุดเริ่มต้นในการเพาะเมล็ดพันธุ์ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำในพื้นที่ ปี 2567 คือการขยายเมล็ดพันธุ์ด้วยการเพิ่มจำนวนคน และสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น และปี 2568 เป็นปีแห่งการปลูกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นการนำต้นแบบการเรียนรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และสร้างฐานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำออกไปให้กว้างที่สุด เพื่อสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด