บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX ) ในเครือ SCBX ได้คาดการณ์เทรนด์การลงทุนที่มาแรงในปี 2024 ผ่านหนังสือ Future Trends Ahead 2024 โดยมีหุ้นใน 4 กลุ่ม ‘ธุรกิจยั่งยืน’ ที่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี
สอดคล้องกับการเติบโตของเทรนด์เรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability ที่มาแรงทั่วโลก จากการเผชิญความเสี่ยงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) รวมทั้งนักลงทุนที่ให้ความสำคัญในการลงทุนผ่านบริษัทหรือธุรกิจที่มีนโยบายในเรื่องของความยั่งยืน
โดยมี 4 กลุ่มธุรกิจ ที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้อย่างโดดเด่นตามเทรนด์ ESG ในปี 2024 นี้ ประกอบด้วย
1. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV )
คาดว่ายอดขาย EV ทั่วโลกจะเติบโตจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้นของประเทศต่างๆ เช่น การก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดย InnoveastX คาดว่ายอดขายรถยนต์ EV ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 20.5 -20.7 ล้านคัน ภายในปี 2025 และ 36.9 -40.4 ล้านคัน ภายในปี 2030 จากยอดขายที่กว่า 10.2 ล้านคัน เมื่อปี2022
ขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมทั้งการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ทั้งกระตุ้นการลงทุนของค่ายรถยนต์ และกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศในอาเซียนกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น แม้การลงทุนเรื่องของ EV จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่มีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนให้ยังคงเติบโตในระยะยาว โดยหุ้น EV จะมีความชัดเจนมากกว่าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และสถานีชาร์จ ขณะที่อีกด้านหนึ่งอุตสาหกรรม EV ยังอยู่ในช่วงแรกของการเติบโต ทำให้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตได้
2. ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
ปัจจัยสนับสนุนมาจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เทรนด์การรักสุขภาพ และการดูแลสุขภาพเชิงการป้องกัน โดย GWI (Global Wellness Institute) คาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจด้านเวลเนสทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยมูลค่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 เพิ่มเป็น 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 โดยเทรนด์มีการเติบโตอย่างชัดเจนหลังการแพร่ระบาดของโควิด -19
โดย Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ได้เจาะจงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ป่วย แต่สามารถจัดสรรเวลาจากการท่องเที่ยวเพื่อมาทำกิจกรรมเพื่อความสมบูรณ์หรือฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและจิตใจ ต่างจาก Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่จะให้น้ำหนักในการเดินทางมาเพื่อใช้บริการทางการแพทย์หรือดูแลปัญหาด้านสุขภาพ แต่ทั้ง 2 กลุ่มมีเป้าหมายเดียวกันคือการมีสุขภาพที่ดี
ประเทศไทย มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของ Wellness Tourism จากความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยว ด้วยความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้กว่า 40 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 8 ของโลก ในปี 2019 และมีรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมทั้งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการให้บริการด้านสุขภาพระดับโลกที่โดดเด่น ทำให้ได้รับอานิสสงส์จากการขยายตัวของเทรนด์ Wellnwss Tourism และโอกาสจากการลงทุนด้าน Wellness Tourism ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาว
3. บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Advance Materials)
บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ภาครัฐอาจจะยังไม่ได้สนับสนุนมากนักโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี แต่แรงขับเคลื่อนมาจากฟากของผู้บริโภค และภาคการผลิตที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Carbon Neutral หรือ Net Zero
นำมาสู่การเพิ่มสัดส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล หรือพลาสติกชีวภาพ รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด รวมถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่สามารถแปลงวัตถุดิบตั้งต้นให้สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าข้อกำหนดของภาครัฐในแต่ละประเทศจะยังมีความหลากหลายและไม่ชัดเจน แต่การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นกลยุทธ์ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ประกอบการระดับโลกหันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภายใต้กรอบการลงทุนในหุ้น ESG ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนประเทศไทยแนวโน้มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภายใต้กลยุทธ์การขับเคลื่อน BCG Model
4. เทคโนโลยียั่งยืน (Clean /Green Energy , Carbon Credit)
จากความกังวลในปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว และหลายประเทศเริ่มประสบภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น นำมาซึ่งการทำข้อตกลง COP26 เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมี 197 ประเทศร่วมลงนามรวมทั้งประเทศไทยด้วย นำมาซึ่งการประกาศเป้าหมาย Net zero
โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานสะอาด รวมทั้งเทรนด์ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตเพิ่มขึ้นคือ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อเพิ่มอัตราเร่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาช่วยชดเชย และคาดว่าจะมีราคาเพิ่มสูงมากขึ้นในอนาคต
ขณะที่โอกาสในการลงทุนเป็นการลงทุนแบบระยะยาว ในกลุ่มพลังงานสะอาด และคาร์บอนเครดิต โดยจะมีผู้เล่นทั้งจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องมีการใช้พลังงานจำนวนมาก หรือในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีการใช้ฟอสซิล และต้องหาทางชดเชยด้าน Sustainability ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต