เป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ทั่วโลกต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น คือ โมเดลการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่สร้างผลกระทบที่ทำให้ผู้คนในอนาคตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้
ขณะที่ขอบเขตของคำว่า ‘ความยั่งยืน’ หลายคนอาจจะนึกถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ความเป็นจริง ความยั่งยืนยังมีมิติของสังคม และเศรษฐกิจเข้ามาด้วย ดังนั้น ในการขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืน จำเป็นต้องผลักดันทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กันด้วย
ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุป 5 เทรนด์ความยั่งยืน 2024 ไว้ในหนังสือ “FUTURE TRENDS AHEAD 2024” โดยระบุว่า ‘ความยั่งยืน’ ถือเป็นเป้าหมายการพัฒนาสำคัญในระดับโลก ผ่านการสะท้อนมุมมองอย่างรอบด้านของเป้าหมายการพัฒนาที่ต้องเชื่อมโยงกันทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 5 เทรนด์ด้านความยั่งยืน ที่มีเข้ามามีบทบาทสำคัญในปี 2024 ประกอบด้วย
1. Climate Change Related Measure : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยที่สนับสนุน : ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มีความรุนแรงและเร่งด่วนอย่างมาก โดยผลกระทบมักเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้นที่สุด สหภาพยุโรป (European Union) จึงได้ออกชุดมาตรการที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เพื่อกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น : ภาครัฐในแต่ละประเทศทั่วโลกมีมาตรการ ควบคุมสินค้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องขยับและปรับตัวตามเทรนด์ดังกล่าวนี้
โอกาสของการลงทุน : องค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายและวางแผนเพื่อการลดกาซเรือนกระจกก่อน ย่อมมีโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งสู่ความเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
2. Just Energy Transition : ความท้าทายของ ‘แรงงาน’ ในอนาคต เมื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
ปัจจัยที่สนับสนุน : การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน คาร์บอนต่ำ และเสมอภาคยุติธรรม เพื่อสิ่งที่ดีกว่าสำหรับผู้คนและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นสำคัญของทั่วโลก และเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) แทนที่พลังงานฟอสซิล ภายในปี 2583 รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ประชาสังคม และประชาชน จึงมีหน้าที่สร้างมาตรการรองรับช่วยทดแทนอัตราการจ้างงานจากอุตสาหกรรมพลังงานเดิมไปสู่พลังงานสะอาด เช่น การให้เวลาและงบประมาณในการสร้างทักษะใหม่
แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น : การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นพลังงานสีเขียว เพราะหากประเทศใดที่ไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน และการย้ายฐานการผลิตได้
โอกาสของการลงทุน : ธุรกิจ New S- Curve หรือธุรกิจประเภทมีโอกาสในการเติบโตจากการต่อยอด Data จากกลุ่ม First S-Curve โดยภาครัฐต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และเตรียมพร้อมเชิงระบบ เพื่อเตรียมงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
3. Sustainable Food : แนวโน้มความมั่นคงด้านอาหาร อธิปไตยทางอาหาร และอาหารอนาคต
ปัจจัยที่สนับสนุน : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศไทย ซึ่งเคยเป็น 1 ใน Top 20 ของผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ได้รับผลกระทบ จากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ทำให้ภาคเกษตรกรเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และภาครัฐพยายามผลักดันให้เกษตรกรเข้าถึงอธิปไตยทางอาหาร เช่น บริการด้านการเงิน การใช้เทคโนโลยีกระตุ้นผลผลิต เพื่อไม่ให้ธุรกิจอาหารถูกผูกขาด รวมถึงมีการพัฒนาสร้างแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น แมลงกว่า 100 สายพันธุ์ เพื่อสร้างการเติบโตทางตลาดโลก
พัฒนาการที่คาดว่าจะเกิดขึ้น : ภาคการเกษตรเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และภาครัฐพยายามผลักดันให้เกษตรกรเข้าตึงอธิปไตยทางอาหาร เช่น บริการด้านการเงิน การใช้เทคโนโลยีกระตุ้นผลผลิต เพื่อไม่ให้ธุรกิจอาหารถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่
โอกาสของการลงทุน : ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับอาหารที่เป็นมรดกท้องถิ่น และอาหารในเชิงวัฒนธรรม จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นถึงกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เป็นต้น
4. Marine Debris Crisis Solution : การจัดการขยะพลาสติกในทะเลอย่างยั่งยืน
ปัจจัยที่สนับสนุน : สร้างการตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งปัจจุบันคาดว่าในแต่ละปีมีขยะถูกทิ้งทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน ดังนั้น ภาครัฐ จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ
แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น : ภาครัฐออกกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก รวมทั้งสนับสนุนให้ประชนซนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ
โอกาสของการลงทุน : ธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางในการสร้างสังคมการรีไซเคิล จะได้รับความสนใจ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น
5. Digital Transformation and Technology : การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต
ปัจจัยที่สนับสนุน : ภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ต้องหันมาให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพราะหากไม่ขยับตัว อาจทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก (disruption) ดังนั้น ภาคส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องวางเป้าหมายธุรกิจให้ชัดในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมความยั่งยืน ขณะที่ ภาครัฐ ต้องปรับตัวเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีความโปร่งใส และทำงานรวดเร็ว
แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น : ภาคธุรกิจต้องวางเป้าหมายธุรกิจให้ชัด ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมความยั่งยืน ในขณะที่ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีความโปร่งใส และทำงานรวดเร็ว
โอกาสของการลงทุน : ธุรกิจที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยี และทำให้ประชาชนในทุกภาคส่วนสามารถใช้บริการและเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย