ดอนเมืองโทล์ลเวย์ (DMT) เร่งเครื่องลดก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2024 เดินหน้าเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด ขยายจุดชาร์จอีวี พร้อมต่อยอดใช้ประโยชน์ฝุ่นบนทางพิเศษสู่อิฐและกระเบื้อง ตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) เปิดเผยว่า บริษัทบูรณาการโครงสร้างองค์กร พร้อมจัดตั้งคณะทำงาน 3Rs เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2024 พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
“บริษัทได้ประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรจากปี 2022 โดยพบว่า มีขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรง และทางอ้อมอยู่ที่ 3,463 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (CO2e) ต่อปี ซึ่งตามแผนต้องลดการปลดปล่อยลง 30% ให้เหลือ 2,424 ตันCO2e ภายในปี 2024 ภายใต้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบ E-In Process เพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมาย รวมทั้งการบูรณาการทำงานจากทุกภาคส่วนในองค์กร เพื่อร่วมขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลได้ทั้งทางหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets : SBT) และเศรษฐศาสตร์ (Economic Outcome)”
นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนหลังคาอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้ง 9 ด่าน ซึ่งจะแล้วเสร็จช่วงพฤษภาคม 2024 และเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จทั้งระบบคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 30% พร้อมลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 348 ตัน CO2e โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทเริ่มผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซล ที่ติดตั้งบนอาคารสำนักงานใหญ่และหลังคาด่านดอนเมือง โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 21,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 1 แสนบาท ลดก๊าซเรือนกระจก 11 ตัน CO2e รวมทั้งได้นำแผงโซลาเซลล์และแบตเตอรี่สำรองไฟ มาติดตั้งไว้กับรถปฏิบัติการงานซ่อมบำรุง สำหรับออกปฏิบัติงานช่วงกลางคืน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมทั้งลดการสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 450 ลิตรต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อีก 1.2 ตัน CO2e
รวมทั้งนโยบายเปลี่ยนยานพาหนะสำหรับการใช้งานภายในองค์กรให้เป็นรถไฟฟ้าทั้ง 100% โดยได้รับการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้าและข้อมูลด้านเทคนิคจาก บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ทั้งรถบัสพลังงานไฟฟ้าและรถกระบะพลังงานไฟฟ้า สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทดสอบการใช้งาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถ เปรียบเทียบความประหยัดและลดก๊าชเรือนกระจกขององค์กรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge เพิ่มเติมที่ด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง จากปัจจุบันมีจุดให้บริการแล้วที่อาคารสำนักงานใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ทาง รวมทั้งให้การช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หมดขณะใช้ทาง
“บริษัทยังให้ความสำคัญกับการจัดการภายใน Ecosystem โดยในปีที่ผ่านมาได้นำฝุ่นที่มาจากการดูดกวาดบนสายทางในแต่ละวัน มาผสมกับขยะพลาสติกทั้งหมด 5 ประเภทคือ HDPE, PP, PS, PET และพลาสติกรวม โดยในการทดลองนั้นจะปรับสัดส่วนของฝุ่นและปริมาณพลาสติกแต่ละประเภท เพื่อหาแนวทางการขึ้นรูปผลิตอิฐก้อนหรือแผ่นกระเบื้อง และนำไปทดสอบความแข็งแรงทนทานผ่านการรับรองจากสถาบัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการเสนอจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว”
ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา DMT เติบโตเคียงข้างคนไทย โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน พร้อมผสานแนวคิดเรื่ององค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนไว้ในทุกกระบวนการทำงาน และหล่อหลอมจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยได้รับรองมาตรฐาน ISO14001 ประกาศรับรองการแสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization) ผ่านการประเมินสำนักงานสีเขียว (Green Office) ระดับ “ดีเยี่ยม” และได้รับการประเมิน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ “A” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทางความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี