AIS เปิดแฟ้มคดีดัง สู่ 12 ละครคุณธรรม เตือนคนไทยรู้เท่าทันภัยไซเบอร์

เมื่อภัยจากไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบได้มากกว่าที่หลายคนคาดคิด บางคนเก็บเงินมาทั้งชีวิต  หรือหาเงินมาด้วยความยากลำบาก แต่ต้องเสียไปเพียงแค่เสี้ยววินาที เพราะความไม่รู้เท่าทันต่อภัยที่มาพร้อมเทคโนโลยี ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ได้จบเพียงแค่มูลค่าของเงินเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นการสูญเสียทั้งชีวิตของเหยื่อ ดังหลายๆ กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์​ในช่วงที่ผ่านมา

ละครคุณธรรมช่วยเตือนภัยไซเบอร์

AIS ในฐานะผู้นำการให้บริการดิจิทัล และมุ่งมั่นที่จะเป็นแกนกลางในการเติมเต็ม Cyber Wellness Ecosystem ให้คนไทย ​โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยยกระดับทักษะดิจิทัล สร้างภูมิคุ้มกันและความรู้เท่าทันภัยที่มาพร้อมเทคโนโลยี ซึ่งสามารถเข้าถึงเหยื่อได้แบบทุกที่ ทุกเวลา และทุกคน ​นำมาซึ่งการรับมือเพื่อป้องกันความสูญเสียในหลากหลายมิติ ทั้ง​การเดินหน้าพัฒนา​เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยสร้างเครื่องมือป้องกันหรือเตือนภัยจากเหล่ามิจฉาชีพในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการเติมเต็มองค์ความรู้ให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อจากภัยไซเบอร์ ภายใต้​ภารกิจ AIS ​​อุ่นใจไซเบอร์ ที่มีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด AIS อุ่นใจไซเบอร์ ได้ผนึกกำลังกับ ตำรวจไซเบอร์ และ 3 ค่ายละครโซเชียลอย่าง กุลิฟิล์ม ทีแก๊งค์ และ ทีมสร้างฝัน เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้คนไทย ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก และส่งเสริมทักษะดิจิทัล ด้วยการสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารที่เข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มได้เป็นวงกว้างมากขึ้นผ่าน ละครคุณธรรม เพื่อร่วมตีแผ่กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมแนะวิธีการป้องกันภัยเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถอยู่ในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ทำให้ทราบว่าปัญหาจากภัยไซเบอร์​เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัว และส่งผลกระทบต่อคนไทยในปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางมาก และเสี่ยงต่อการเผชิญกลโกงจากมิจฉาชีพออนไลน์มากที่สุด เนื่องจากมีทักษะดิจิทัลน้อยกว่าวัยอื่น และมักใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก ประกอบกับบางส่วนอยู่ในวัยหลังเกษียนและมีเงินเก็บ จึงเป็นเป้าหมายที่มิจฉาชีพมักจะพยายามเข้าถึงและใช้กลลวงรูปแบบต่างๆ เพื่อหลอกให้โอนเงินและต้องสูญเสียทรัพย์สินในที่สุด

สอดคล้องกับข้อมูลจาก ​พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้ฉายภาพให้เห็นปริมาณการรับแจ้งความ​ ที่เก็บสถิติตั้งแต่วันที่​ 1 มี.ค. 2565 – 10 พ.ย. 2566 และพบว่าเป็นคดีออนไลน์สูงถึงกว่า 3.6 แสนคดี ประเมินมูลค่าความเสียหายได้มากกว่า 49 ล้านบาท โดยมีรูปแบบการหลอกลวงถึง 14 ประเภท และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรูปแบบที่มีจำนวนคดีและสร้างมูลค่าความเสียหายได้ในระดับสูง เช่น การหลอกซื้อขายผ่านออนไลน์ การหลอกให้โอนเงิน หลอกให้กู้เงิน หลอกให้ลงทุน รวมทั้งการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) หรือการหลอกเป็นคนรู้จักเพื่อขอยืมเงิน เป็นต้น โดยพบว่ามิจฉาชีพมีรูปแบบและเทคนิคกลโกงที่หลากหลาย ​รวมทั้งมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเข้าถึงทุกคนได้โดยตรงผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงถือเป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

คาถาปลอดภัย ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน​​

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว การจัดการจึง​​จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเชิงป้องกันควบคู่ไปกับการปราบปราม เพื่อช่วยให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและสามารถอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ด้วยการนำข้อมูลจากคดีออนไลน์​ที่เกิดขึ้นจริง​ มาสร้างเป็นละครคุณธรรมสะท้อนสังคม​จำนวน 12 ตอน จำลอง 12 สถานการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกัน เพื่อตีแผ่กลโกงได้แบบตรงไปตรงมา ​ผ่านเนื้อหาที่สนุก เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกความรู้ และเทคนิควิธีการรับมือมิจฉาชีพ โดยพี่ๆ ตำรวจไซเบอร์ ที่มาร่วมแสดงเป็นนักแสดงในละครคุณธรรมทั้ง 12 ตอนอีกด้วย  ​

โดย​ตัวอย่างประเภทของคดีภัยไซเบอร์ ที่ได้หยิบยกเนื้อหามาดัดแปลงต่อยอดเป็นละครคุณธรรม เช่น ​

คดีหลอกลวงให้ซื้อสินค้าออนไลน์แต่ไม่ได้สินค้า โดยเล่าผ่านเรื่องของ ‘ถิง’ พนักงานออฟฟิศที่ชื่นชอบการซื้อของออนไลน์ และได้ไปซื้อกระเป๋าผ่านเพจแห่งหนึ่ง แต่ถูกมิจฉาชีพซึ่งสร้างเพจปลอมเลียนแบบสินค้าหรือคอนเทนต์จากทางร้าน​ค้ามาหลอกถามข้อมูล และปลอมตัวเป็นแอดมินเพื่อให้โอนเงินไปยังบัญชีม้า ทำให้ต้องเสียเงินค่าสินค้าโดยที่ไม่ได้รับสินค้า และไม่สามารถติดต่อคู่กรณีได้ เมื่อแน่ใจว่าโดนหลอก จึงติดต่อไปยังเพจจริงและพากันไปแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์

หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมยืนยันตัวตน ซึ่งมักจะมาในรูปแบบการแอบอ้างหน่วยงานเพื่อให้ทำธุรกรรมสำคัญต่างๆ ผ่านออนไลน์ แล้วหลอกให้ผู้เสียหายคลิกลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมพร้อมติดตั้งโปรแกรม เพื่อสามารถควบคุมหน้าจอโทรศัพท์ผู้เสียหายได้  โดยเรื่องนี้เล่าผ่านเรื่องราวของ ‘ตี๋’ วินมอเตอร์ไซค์ ที่พ่อของเขาได้รับ SMS มาขอข้อมูลส่วนตัว และเกือบตกเป็นเหยื่อของโจรไซเบอร์อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่โชคดีที่ได้พบกับเพื่อนซึ่งแม่ของเธอเคยถูกหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นอันตราย และถูกดูดเงินไปจนเกลี้ยงบัญชี ตี๋จึงรีบมาเตือนพ่อและได้แจ้งตรวจสอบเบอร์มิจฉาชีพกับ AIS Spam Report Center 1185 ก่อนไปแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์เพื่อติดตามกลุ่มมิจฉาชีพต่อไป

หลอกให้ลงทุน โดยมักใช้ภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อมาชักชวนให้ลงทุน โดยเล่าผ่านเรื่องราวเส้นทางนักลงทุนของ ‘เกต’ พนักงานออฟฟิศที่มีความทะเยอทะยานและอยากมีเงินเที่ยว จึงเลือกลงทุนผ่านเพจที่มีการชักชวนทางออนไลน์ พร้อมเสนอผลตอบแทนที่จูงใจ ทำให้เธอเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น จนถึงวันที่ต้องการถอนเงินมาใช้แต่ไม่สามารถถอนได้ แถมต้องเสียค่าธรรมเนียมหลักแสน เมื่อไม่โอนให้ก็ถูกตัดขาดจากทุกช่องทางการติดต่อ จึงได้นำเรื่องมาแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์

นอกจากตัวอย่างเหล่านี้ยังมีเรื่องราวให้เป็นกรณีศึกษาในอีกหลากหลายสถานการณ์เพื่อรู้เท่าทันกลอุบายกลุ่มมิจฉาชีพ พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนอย่าง AIS และหน่วยงานภาครัฐอย่างตำรวจไซเบอร์ เพื่อเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประสานงานในมิติของการช่วยป้องกันและปราบปรามผ่านสายด่วนภัยไซเบอร์ 1185 เพื่อเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center ให้ลูกค้าแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพได้ฟรี ซึ่งหลังการรับแจ้งจะมีการตรวจสอบ และดำเนินการแจ้งบล็อกหากเป็นมิจฉาชีพ พร้อมส่งเรื่องต่อไปยังตำรวจไซเบอร์เพื่อขยายผลไปสู่มิติของการปราบปรามต่อไป

คุณสายชล กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายสำคัญของ AIS ในการสื่อสารผ่านละครคุณธรรมครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเห็นเพียงยอดการเข้าชมที่เป็นตัวเลขเท่านั้น​ แต่ต้องการสร้างให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายของภัยไซเบอร์ที่แท้จริง ด้วยการเปลี่ยนจากการรับรู้มาสู่การสร้างพฤติกรรมปลอดภัยผ่าน Keywords ‘3 ไม่’ ประกอบด้วย ​ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ซึ่งจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ได้

​ซึ่งนอกจากการสร้างความตระหนักรู้เพื่อร่วมเตือนภัยป้องกันการตกเป็นเหยื่อแล้ว AIS ยังมีแผนขยายการขับเคลื่อนเพื่อเข้าถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ต่อเนื่องในอนาคต ​รวมถึงต่อยอดการพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้กลายเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ที่จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ เพิ่ม​ภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้​แก่ประชาชนคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น รวมไป​ถึงการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลของคนไทยผ่านดัชนีชี้วัด TCWI เพื่อ​ขยายผลและเติมเต็มให้สังคมไทยมี Cyber Wellness ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ สามารถติดตามชมละครคุณธรรม ทั้ง 12 ตอน ซึ่งสอดแทรกการเตือนภัยกลโกงของมิจฉาชีพพร้อมวิธีการรับมือ ได้ผ่านช่องทาง Social Media ของทั้ง 3 ค่ายละครคุณธรรม และช่องทาง LearnDi ได้ที่   https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/learning-path/105/

 

#AISxCCIBxละครคุณธรรม #AISอุ่นใจCYBER #มีความรู้ก็อยู่รอด

Stay Connected
Latest News