ในงานสัมมนาประจำปี 2566 Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอประเด็นเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายในการมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งเป็นวาระสำคัญของทั้งโลกในขณะนี้
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” พร้อมฉายภาพรวมปริมาณการใช้พลังงานทั่วโลกในแต่ละวันซึ่งสูงมากกว่า 1.7 เอ็กซาจูลส์ (ล้านล้านล้านลิตร) โดย 80% หรือ 1.4 เอ็กซาจูลส์ เป็นสัดส่วนพลังงานจากฟอสซิส โดยสัดส่วนหลักราว 30% เป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน หรือคิดเป็นกว่า 220 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งการขับเคลื่อนโรดแมพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จำเป็นต้องลดสัดส่วนการใช้น้ำมันจากฟอสซิลเพื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาดในอนาคต
โดยเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน และโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมากคือ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งคาดว่ายังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิต รวมถึงการทำให้มีราคาและต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้สำหรับการนำไปใช้งานจริง
ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และมีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยมีการประเมินสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มเป็นเกือบ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 1% เท่านั้น โดยสัดส่วนหลักของการใช้พลังงานสะอาดในปัจจุบันยังคงเป็นเชื้อเพลิงเหลวหรือน้ำมัน (Liquid Fuels) สูงถึง 94% และแก๊สอยู่ที่ 5% โดยคาดว่าภายในปี 2050 ภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงเป็นเชื้อเพลิงเหลวราว 65% และแก๊สเกือบ 10%
“การใช้พลังงานไฟฟ้าหรือ Green Electron เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดนั้น หากจะผลิตให้มีปริมาณ 220 ล้านบาร์เรล เพื่อมากพอสำหรับการใช้ทั่วโลกต่อวัน จำเป็นต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เท่าเขื่อนภูมิพลอีกกว่า 1.3 แสนล้านเขื่อน ขณะที่การจ่ายไฟไปสู่ผู้บริโภคก็ต้องใช้สายไฟฟ้าแรงสูงยาวกว่า 320 ล้านกิโลเมตร เทียบได้กับความยาวรอบโลกถึง 8,000 รอบ ซึ่งอาจต้องมีการลงทุนหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการเปลี่ยนผ่านที่ค่อนข้างสูงและมีความซับซ้อน ดังนั้น เชื่อว่าเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดจะสามารถตอบโจทย์อนาคตได้ดีที่สุด จาก 2 จุดเด่นหลักทั้ง ความหนาแน่นของพลังงานเมื่อเทียบกับน้ำหนักมากกว่าของแข็ง เช่น ลิเธียมไอออน ซึ่งน้ำมันประสิทธิภาพในการให้พลังงานได้ดีกว่าถึง 20 เท่าในปริมาณน้ำหนักที่เท่ากัน รวมทั้งยังสามารถขนส่งได้ง่าย โดยสามารถขนส่งได้ทั้งผ่านท่อ หรือขนส่งผ่านรถหรือเรือ ขณะที่การขนส่งแก๊สจำเป็นต้องขนส่งผ่านท่อเท่านั้น”
คุณชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ภาคการขนส่งและการเดินทางยังมีการขยายตัวต่อไปในอนาคต และจำเป็นต้องมีการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาเชื้อเพลิงที่สามารถตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืนในรูปแบบเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือ Regenerative Fuels ซึ่งเป็นการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงโมเลกุลสะอาด (Clean Moleculs) ที่ไม่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ จะช่วยตอบโจทย์ด้านการเดินทางและขนส่งอย่างยั่งยืนที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) หรือไบโอดีเซล เช่น เอทานอล ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาเจนเนอเรชัน 2 ที่เปลี่ยนวัตถุดิบจากมันสำปะหลัง หรือกากน้ำตาลมาเป็น การใช้ BioMass จากการหมักกากไม้ต่างๆ มาทดแทนได้
รวมทั้งการใช้น้ำมันใช้แล้วจากครัวเรือน (Used Cooking Oil) มาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ซึ่งกลุ่มบริษัทบางจากได้เริ่มบุกเบิกธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง SAF ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เป็นเชื้อเพลิงที่ภาคการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์
นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดเทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) สำหรับต่อยอดสู่การผลิต E Fuel เพื่อให้ได้ไฮโดรคาร์บอน สำหรับนำไปเติมในรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์รองรับ รวมทั้งได้กรีนแอมโมเนียที่อยู่ในรูปของเหลว เพื่อสะดวกในการขนส่งสำหรับนำไปแยกเป็นไฮโดรเจนออกมาใช้งานได้อย่างสะดวกมากขึ้น
“เห็นได้ว่าการพัฒนาเชื้อเพลิง Clean Molecules ควบคู่ไปกับการต่อยอดเทคโนโลยี CCUS จะกลายเป็นกลไกสำคัญที่จะสามารถตอบโจทย์การใช้พลังงานแห่งอนาคต ที่เน้นการขับเคลื่อนโรดแมพเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมทั้งสามารถรองรับได้ทั้งการเติบโตของดีมานด์การใช้พลังงานจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และการตอบโจทย์เรื่องของสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนของโลกใบนี้ไปได้พร้อมกัน”