บางกอกแอร์เวย์สแท็กทีมวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสมสู่ต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ ในโครงการ “Community Of Love” นำความรู้อัพไซคลิ่งเพิ่มรายได้ชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้วงจรขยะเปลือกหอย
ด้วยเป้าหมายสู่การเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในเอเชีย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตภายใต้ความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สายการบินบางกอกแอร์เวย์สจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นต่อ Stakeholder ทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้า คู่ค้า พนักงาน รวมถึงการให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อผู้คนและชุมชน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเป้าหมาย Low Carbon Skies by Bangkok Airways เพื่อลดการสร้างคาร์บอนได้ทั้ง Ecosystem ของธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนงานปฏิบัติการด้านการบินซึ่งเป็นภาคส่วนหลักที่สร้าง CO2 รวมไปถึงการตั้งเป้าหมายในการเป็น Green Airport ของสนามบินภายใต้การบริหารของบางกอกแอร์เวย์สทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย สมุย สุโขทัย และตราด
ขณะที่ในมิติของสังคม และสิ่งแวดล้อม ได้มุ่งเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ทั้งกับพนักงาน รวมไปถึงการสร้างสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ โดยเน้นการขับเคลื่อนที่ตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ พร้อมทั้งยังสร้างความใกล้ชิดระหว่างธุรกิจและชุมชน เพื่อมีส่วนในการพัฒนาและสร้างเติบโตที่สามารถลดผลกระทบเชิงลบภายในพื้นที่ร่วมกันได้
เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม จ.ตราด ที่กลุ่มอาสาสมัคร Blue Volunteers และสนามบินตราด โดยสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ได้เข้าไปมีส่วนช่วยส่งเสริมศักยภาพของทางชุมชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มในวงจรเศรษฐกิจหอยนางรมได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมสร้างเป็นต้นแบบ ‘ชุมชนคาร์บอนต่ำ’ ที่สามารถบริหารจัดการเศษเปลือกหอยนางรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาเปลือกหอยนางรมภายในชุมชนไปพร้อมกันด้วย
คุณอาริญา ปราสาททองโอสถ กรรมการบริษัทฯ และประธานคณะทำงานส่วนรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ทั้ง 3 สนามบิน (สมุย สุโขทัย ตราด) ภายใต้โครงการ Community Of Love เพื่อตอกย้ำพันธกิจและนโยบายด้านความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนชุมชนในหลากหลายด้าน ทั้งการศึกษา ความเป็นอยู่ การส่งเสริมอาชีพ โดยเน้นสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง โดยในพื้นที่ชุมชนตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ถือเป็นโครงการที่มีการสนับสนุนต่อเนื่องจากโครงการฟื้นฟูอาชีพทำแป้นหอยนางรม ที่บริษัทสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2563 และขยายผลให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้มากขึ้น
“สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เข้าไปสนับสนุนโครงการฟื้นฟูอาชีพการทำแป้นหอยนางรม ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัย และช่วยเพิ่มปริมาณทรัพยากรในพื้นที่ พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง และพบว่า 80% ของชุมชนดังกล่าวดำรงอาชีพเลี้ยงหอยนางรมเป็นหลัก ส่งผลให้ชุมชนมีขยะเปลือกหอยจำนวนมาก หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องอาจนำมาสู่การปล่อยก๊าซมีเทน ส่งผลต่อปัญหาโลกร้อน จึงต่อยอดมาสู่การสนับสนุนต่อเนื่องในโครงการแปรรูปเปลือกหอยนางรม พร้อมร่วมผลักดันชุมชนแห่งนี้สู่การเป็น ‘ชุมชนต้นแบบคาร์บอนต่ำ’ ที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์เปลือกหอยนางรม จากการเป็นขยะมาสู่วัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตสินค้าให้สร้างประโยชน์ต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น จานรองแก้ว กระถางรูปทรงต่างๆ และภาชนะสำหรับใส่เครื่องประดับ รวมไปถึงบล็อกปูพื้น ซึ่งถือว่าสายการบินเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ จากแป้นหอยนางรม มาสู่ปลายน้ำในการต่อยอดมูลค่าเพิ่มให้เปลือกหอยนางรม ที่ช่วยทั้งลดปริมาณขยะ และสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน”
นอกจากนี้ ทางสายการบินยังมีโครงการที่ขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนในพื้นที่อีก 2 สนามบิน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการปลูกมะพร้าวเพื่อเกาะสมุย โครงการแยกขยะได้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมเรื่องการคัดแยกขยะในชุมชนด้วยการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชนผ่านกระบวนการฝึกอบรมความรู้การบริหารจัดการขยะในโรงเรียน และสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการคัดแยกขยะ รวมถึงโครงการรักษ์โลกร่วมปลูกป่าชายเลนกับบางกอกแอร์เวย์สเพื่อร่วมอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำถึงนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้โครงการ “Love Earth, Save Earth” ที่มุ่งเน้นการรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสอดรับกับพันธกิจสำคัญของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในการมุ่งสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
คุณนวรัตน์ วรรณตรง ผู้อำนวยการส่วนรับผิดชอบต่อสังคม สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission) ภายในปี 2050 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ภายในธุรกิจ เพื่อนำมาเป็นฐานในการวางแผนขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ Zero Carbon ได้ตามเป้าหมาย โดยจะทำการจัดทำโรดแท็พทั้งในระยะสั้น เพื่อขับเคลื่อนในช่วง 1-2 ปีจากนี้ ระยะกลาง สำหรับการขับเคลื่อนช่วง 3-4 ปี และระยะยาว สำหรับหารขับเคลื่อนในช่วงหลังจาก 5 ปีขึ้นไป
“โดยหนึ่งในเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วคือ การขับเคลื่อน Low Carbon Skies by Bangkok Airways ภายในปีหน้า ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนโรดแม็พเพื่อลดคาร์บอนใน Scope 1 และ 2 ผ่านการดำเนินงานของบริษัท ทั้งการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) การติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในสำนักงาน หรือในพื้นที่สนามบินโดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานต่างๆ ในส่วนของสำนักงาน การส่งเสริมเรื่องการคัดแยกขยะ หรือการรีไซเคิลต่างๆ นอกจากนี้ จะสร้างการมีส่วนร่วมไปยังกลุ่มผู้โดยสาร และศึกษา Passenger Journey เพื่อเริ่มเตรียมการใน Scope ที่ 3 ได้แต่เนิ่นๆ รวมทั้งการวางแผนเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านต่างๆ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ”