เมื่อความยั่งยืน (Sustainability) กลายเป็นโจทย์สำคัญให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ที่รุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
การเติบโตโดยเน้นกำไร จึงไม่ใช่คำตอบของธุรกิจในอนาคต แต่ต้องมองถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ธุรกิจจึงต้องปรับกลยุทธ์และทิศทางให้มองความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น
ขณะที่ต่างประเทศเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและปรับนโยบายเพื่อมุ่ง Net Zero ส่งผลให้หลายประเทศประกาศกฎระเบียบใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหรือผู้ส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
ด้านประเทศไทยเองก็เริ่มพัฒนาแผนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วมของทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน ดังเช่นกรณีการแก้ไขปัญหาขยะ ด้วยการนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และสินค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy(CE) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) นับเป็นเครือข่ายเอกชนสำคัญของไทยที่อาสาเป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจไทยปรับตัวรองรับกับกติกาสากล โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(อียู) ที่กำหนดเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ. 2573 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
พร้อมกันนี้ ยังกำหนดปี พ.ศ. 2567 ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม “โครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)” เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ โดยทยอยเพิ่มสัดส่วนการนำกลับมารีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปี แม้ว่าอียูยังไม่บังคับใช้กฏหมายนี้กับประเทศที่ 3 ที่เป็นคู่ค้าส่งออกไปยังยุโรป แต่อนาคตเชื่อว่าจะมีการใช้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TIPMSE ได้จัดเวทีสัมมนาทั้งในช่องทางออนไซต์ และออนไลน์ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อผู้ผลิตและเชิญชวนเข้าร่วมขับเคลื่อนและกำหนดรูปแบบ EPR ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงล่าสุดในงานสัมมนา “ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้ากับการเตรียมตัวสู่ EPR” ในงาน Propak Asia 2023 เมื่อ 29 ก.ย.2565 มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเตรียมความพร้อมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการในการขับเคลื่อน EPR เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ในขั้นของภาคสมัครใจผ่าน ‘โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน’ เพื่อเรียนรู้และเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับต่อไป
โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน มีการดำเนินงานใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย
1) การพัฒนากลไกด้านนโยบายของประเทศ ตลอดจนการจัดทำระบบฐานข้อมูล
2) การทดลองดำเนินการเก็บกลับโดยภาคเอกชนในพื้นที่นำร่อง 3 เทศบาล จ.ชลบุรี (แสนสุข บ้านบึงและสีชัง) ที่เน้นการนำมาตรการสนับสนุนต่างๆ ตามหลัก EPR ไปทดลองดำเนินการในพื้นที่
3) การสื่อสารและสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ
4) การขยายความร่วมมือกับผู้ผลิต โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ในงาน SX2023 ได้จัดกิจกรรม PackBack in action รวมพลังขับเคลื่อน Voluntary EPR โดยมีองค์กรเข้าร่วมแสดงเจตจำนงเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 98 องค์กร และมีการประกาศความร่วมมือของ 4 องค์กรภาคี ได้แก่ PPP Plastics, PRO Thailand Network , Aluminium Closed Loop Packaging System (Al Loop) และ TIPMSE PackBack ซึ่งต่างมีโครงการที่ช่วยหนุนเสริมกลไก EPR ได้มาจับมือร่วมกันดำเนินโครงการ EPR ภาคสมัครใจอีกด้วย
ผู้ประกอบการหรือองค์กรที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ EPR ภาคสมัครใจ สามารถเข้าร่วมได้ตามระดับความพร้อมของตนเอง ดังนี้ 1) การเรียนรู้และเริ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก Eco-design กับ “คลินิก Eco-Design” 2) การร่วมเรียนรู้ หลักการและกลไก EPR ผ่านการร่วมกิจกรรมโครงการนำร่อง PackBack ที่จังหวัดชลบุรี และ 3) การเริ่มดำเนินการ EPR ภาคสมัครใจแบบเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-3451293
“การนำหลัก EPR หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตสู่การขยายเครือข่ายร่วมรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วหลังการบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ จะตอบสนองเป้าหมายในการป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน TIPMSE ได้กล่าวไว้ในงาน PackBack in action รวมพลังขับเคลื่อน Voluntary EPR (6 ต.ค.66)
เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือที่จะเป็นแกนหลักที่สำคัญต่อขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่แค่การเพิ่มขีดความสามารถให้กับระดับองค์กร หากแต่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อก้าวผ่านกติกาของโลก อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบเศรษฐกิจที่จะเติบโตแบบยั่งยืนที่แท้จริง