ข้อมูลจาก ‘วิจัยกรุงศรี’ ระบุว่า แม้ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ในช่วง 8 เดือนแรก ของปี 2566 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ยังคงมีปริมาณการซื้อขายสูงกว่าภาพรวมของทั้งปี 2564 มากกว่า 2 เท่า ขณะที่ราคาเฉลี่ยจากทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว
โดยพบว่า ในปี 2565 ราคาเฉลี่ยตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยอยู่ที่ 108 บาท/tCO2e ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2564 กว่า 3 เท่า แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยรายงาน State and Trends in Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลก ระบุว่าคาร์บอนเครดิตที่มาจากการดูดกลับโดยธรรมชาติหรือเทคโนโลยีต่างๆ มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 500-700 บาท/tCO2e ส่วนเครดิตจากโครงการพลังงานทดแทนมีราคาเฉลี่ย 170-350 บาท/tCO2e
ทั้งนี้ พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาจากตลาดคาร์บอนในภาคบังคับค่อนข้างมาก เช่น ในสหภาพยุโรป ที่ราคาซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 3,500 บาท/tCO2e ภายใต้ EU ETS (Emission Trading Scheme) เนื่องจากยังเป็นตลาดในกลไกภาคสมัครใจ ซึ่งต่างจากหลายๆ ประเทศที่ใช้กลไกภาคบังคับร่วมกับตลาดคาร์บอนเครดิตด้วย
ซึ่งนอกจากประเภทของโครงการแล้ว ราคาของคาร์บอนเครดิตยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้
1. ผู้ให้การรับรองเครดิต ซึ่งราคาซื้อขายแตกต่างกันตามแต่ละมาตรฐาน
2. อายุของเครดิต ซึ่งเครดิตที่ได้รับรองใหม่ๆ จะขายได้ราคาสูงกว่าเพราะเป็นที่ต้องการมากกว่า
3. ประโยชน์ร่วมของโครงการ เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวและการลดมลพิษ ซึ่งจะตอบสนองความพึงพอใจของผู้ซื้อที่แตกต่างกันไป
สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย มีดังต่อไปนี้
– คาร์บอนเครดิตจากโครงการแต่ละประเภทจะมีราคาซื้อขายที่แตกต่างกัน โดยประเภทโครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาดีที่สุดในไทย คือการปลูกป่า (ราคาสูงสุดถึง 2,000 บาท/tCO2e ในปี 2565) เนื่องจาก เป็นโครงการที่ลงทุนสูง แต่สามารถให้เครดิตในระยะยาวได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ของโลก แต่เครดิตจากโครงการปลูกป่ายังมีการซื้อขายไม่มาก เมื่อเทียบกับโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ และแสงอาทิตย์ เนื่องจากโครงการปลูกป่าใช้เวลานานกว่าเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต
– ในปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้แล้ว 208,030 tCO2e มากเป็นอันดับ 2 รองจากโครงการพลังงานชีวมวล แต่ที่น่าสนใจคือราคาเครดิตจากป่าไม้เฉลี่ยคือ 173 บาท/tCO2e ขณะที่ราคาชีวมวลอยู่ที่เพียง 36 บาท/tCO2e เท่านั้น
– โครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาสูงในปี 2566 คือการทำปุ๋ยหมัก พลังงานชีวภาพ และพลังงานลม ซึ่งล้วนมีราคาขายเฉลี่ยเกิน 200 บาท/tCO2e
– กลุ่มผู้ซื้ออาจเป็นองค์กรหรือบุคคลทั่วไปก็ได้ โดยคาร์บอนเครดิตสามารถนำไปชดเชยคาร์บอนได้ 4 ประเภท ได้แก่ การปล่อยคาร์บอนขององค์กร สินค้าหรือบริการ การจัดประชุมหรืองานอีเว้นท์ และระดับบุคคล ซึ่งจากการชดเชยทั้งหมด องค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตมากที่สุดรวมกันกว่า 1.2 MtCO2e จากองค์กร 164 แห่ง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา หรือโดยเฉลี่ยแล้ว 1 องค์กรซื้อคาร์บอนเครดิต 7,582 tCO2e
– หน่วยงานที่ซื้อคาร์บอนเครดิตมากอยู่ในภาคการผลิต การเงินการธนาคาร บริการขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ โดยบางองค์กรซื้อในปริมาณมากและซื้อเป็นประจำเมื่ออายุการรับรองสิ้นสุดลง ตามมาด้วยการซื้อเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนของงานอีเว้นท์ ขณะที่บริษัทบางแห่งเลือกชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ของตนด้วย เช่นเดียวกับการชดเชยระดับบุคคล ที่มีปริมาณการซื้อคาร์บอนเครดิตต่อคนโดยเฉลี่ย 16 tCO2e/คน
– สำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างคาร์บอนเครดิตได้ในระดับสูง ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคป่าไม้ ภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มความต้องการคาร์บอนในระดับสูง ได้แก่ ภาคขนส่ง อุตสาหกรรม MICE ภาคท่องเที่ยว ภาคการเงินและธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนในซัพพลายเชน Scope ที่ 2 และ 3