ยูนิโคล่ ทดลองเปิด Pop-up Store เพื่อจำหน่ายสินค้ามือสองเป็นครั้งแรก นำร่องในสาขาฮาราจูกุ ชิบูยา โตเกียวโดยเปิดให้บริการเพียง 12 วัน ตั้งแต่ 11 – 22 ตุลาคม 2566 ตั้งราคาขาย 1 ใน 3 ของสินค้าใหม่
การทดลองโมเดลใหม่ของยูนิโคล่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดขยะจากอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่ Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่ขับเคลื่อนมาโดยตลอด ตามปรัชญา Life wear ที่ยึดถือในการดำเนินธุรกิจ
ภายในป๊อบอัพสโตร์แห่งนี้ ได้รวบรวมสินค้ามือสองกว่า 400 – 500 ชิ้น ซึ่งได้ผ่านการทำความสะอาดและบางชิ้นได้ทำการย้อมสีใหม่ ก่อนจะนำกลับมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคอีกครั้ง ด้วยราคาเพียง 1 ใน 3 ของราคาสินค้าใหม่ ทั้งเสื้อสเวตเตอร์ ในราคา 1,500 เยน เสื้อฟลีซ 1,000 เยน ผ้าพันคอแคชเมียร์ 3,000 เยน เสื้อทีเชิต 1,990 เยน เสื้อเชิตสไตล์แคชชวล 2,990 เยน เและกางเกงชิโน 3,990 เยน
รวมทั้งการนำสินค้าในคอลเลคชันก่อนปี 2000 กลับมาจำหน่ายอีกครั้ง เพื่อให้ลูกค้ากลับมาสัมผัสกับสีสันและความสุขของแฟชั่นที่มีความเป็นยูนีคในช่วงเวลานั้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี เพราะสามารถซื้อเสื้อผ้าในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้นำบริการจาก RE.UNIQLO มาให้บริการได้ด้วย สำหรับลูกค้าเลือกซื้อแผ่นปักเพื่อใช้ตกแต่งเสื้อผ้า จะมีบริการเย็บแผ่นปักลวดลายต่างๆ ให้ลูกค้าเพิ่มเติม ในราคาแผ่นละ 500 เยน
ทั้งนี้ ยูนิโคล่จะนำผลการตอบรับของลูกค้าที่ได้รับจากการเปิดป๊อบอัพสโตร์ในครั้งนี้ มาพิจารณาสำหรับการให้บริการขายเสื้อผ้าในกลุ่มเสื้อผ้ามือสองต่อไป
ยูนิโคล่ ได้เริ่มโครงการรับบริจาคเสื้อฟลีซที่ลูกค้าไม่ได้ใช้แล้วเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล ตั้งแต่ปี 2544 ก่อนจะขยายบริการออกไปจนครบทุกกลุ่มผลิตภันฑ์ในปี 2549 รวมทั้งเริ่มให้บริการรับซ่อมแซมเสื้อผ้า หรือ RE.UNIQLO ในปี 2564 ซึ่งปัจจุบันสามารถขยายการให้บริการออกไปได้ 33 สาขา ใน 14 ประเทศ