การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 (SDG Summit 2023) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UNGA78) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18 -19 กันยายน 2566 พร้อมถ้อยแถลงแรกของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ประกาศความมุ่งมั่นขับเคลื่อน “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) พร้อมเสริมสร้างกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และบทบาททางการเงินระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง
คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศถ้อยแถลงแรกต่อเวทีโลก ในการประชุม SDG Summit 2023 โดยเน้นย้ำเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติ (SDGs) ในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันขับเคลื่อนมาได้ครึ่งทางของวาระ และกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) โดยได้ประกาศจุดยืนของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ดังต่อไปนี้
1. สำหรับการขับเคลื่อนภายในประเทศ ได้กำหนดบทบาทและแนวทางการเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) ด้วยการขับเคลื่อนแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางในการเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
2. มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดความยากจนของคนทุกช่วงวัย ภายในปี 2027
3. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ (Health impoverishment) ให้เหลือไม่เกิน 0.25% ภายในปี 2027
4. ผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือ โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030
5. ด้านการขับเคลื่อนร่วมกับนานาประเทศ เน้นการทำงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างระบบพหุภาคี ให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายและสามารถบรรลุสู่เป้าหมาย SDGs 2030 ได้
6. สนับสนุนข้อเรียกร้องของของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี 2030 เพื่อลดช่องว่างด้านเงินทุนในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ทั้งแหล่งทุน และเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ โดยมีการดำเนินการต่อไปนี้
– สนับสนุนมาตรการทางการเงินที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว เช่น Green Bond หรือ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน หรือการกระตุ้นหรือกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้วงเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ภาคธุรกิจของไทยมากกว่า 100 บริษัท ที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ได้ให้การตอบรับ พร้อมประกาศเจรตนารมณ์ในการลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายในปี 2030
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป