สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานข้อมูล Z insight ถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรจีน Gen Z
ปัจจุบันจีนมีประชากร Gen Z (คนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1995 – 2009 ) ประมาณ 264 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรจีนทั้งหมด แต่ในด้านการบริโภคมีสัดส่วนอยู่ถึง 40% และคาดว่าในปี 2035 มูลค่าการบริโภคของชาวจีน Gen Z จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือกว่า 16 ล้านล้านหยวน หรือราว 80 ล้านล้านบาท (1 หยวน = 5 บาท)
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การเติบโตของตลาดการบริโภคโดยรวม และตลาดวัฒนธรรมในจีนจะถูกขับเคลื่อนโดย Gen Z
ทั้งนี้ พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีจิตใจเปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว แสวงหาความแปลกใหม่ที่สนุก พร้อมทั้งการแสวงหาคุณภาพชีวิตและค่านิยม มีความตระหนักในตนเองที่แข็งแกร่ง มุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ ด้านสุขภาพร่างกาย ความพึงพอใจทางอารมณ์ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังให้ความสำคัญกับความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี โดยการปรับปรุงประสบการณ์ชีวิตด้วยการเลือกและการกระทำอย่างมีสติ
สำหรับพฤติกรรมในการเลือกบริโภคอาหารพบว่า ชาวจีน Gen Z ถือเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ และให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านรสชาติเป็นอันดับหนึ่ง 73.35% ตามมาด้วย เรื่องของสุขภาพ 60.22% เลือกจากคุณภาพ 59.17% เลือกจากราคา 39.86% เลือกจากสุขลักษณะ 39.36 % เลือกจากหน้าตาอาหาร 18.77% เลือกจากปริมาณสินค้าใหม่ 15.04% เลือกจากความนิยม 10.66% เลือกจากสิ่งแวดล้อม 9.92% เลือกจากแนวคิดของแบรนด์ 8.6% และเลือกจากปัจจัยอื่นๆ 0.11%
และเนื่องจากความหลากหลายของการบริโภคที่มากขึ้น ทำให้ Gen Z มีทัศนคติว่าการกินเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิต ทำให้ส่วนใหญ่แสวงหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพ มีนวัตกรรม และมีความหมาย โดยมีพฤติกรรมเด่นๆ ในด้านการบริโภคอาหารของชาวจีน Gen Z มีดังต่อไปนี้
1. ตระหนักเรื่องคุณภาพและตอบโจทย์ทางโภชนาการ
Gen Z มองว่า อาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะโรคภัยต่างๆ มีกเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี ทำให้ชาวจีน Gen Z ยุคใหม่ มีความพิถีพิถันในการเลือกอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารอย่างสมดุล เพื่อรักษาสัดส่วนการรับประทานที่เหมาะสมของธาตุอาหารต่างๆ แทนการพึ่งพาอาหารเพียงชนิดเดียวหรือการได้รับสารอาหารในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย
โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า อาหารที่ให้โปรตีนสูงอย่าง ไข่ นม และผักผลไม้ เริ่มเข้ามาแทนที่ปลาและเนื้อแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นปริมาณสารอาหารที่สำคัญที่สุดในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ โดยพบถึง 82.06% เลือกรับประทานไข่และนมมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เลือกรับประทานผัก 81.35% เลือกรับประทานผลไม้ 63.83% เลือกรับประทานเนื้อสัตว์และปลา 61.10% เลือกรับประทานธัญพืช 38.79% และ เลือกรับประทานอาหารประเภทอื่นๆ 1.06% ตามลำดับ โดยยังพบว่า ชาวจีน Gen Z ยังให้ความสำคัญต่อการลดการบริโภคน้ำตาลและไขมัน เนื่องจากการรักษารูปร่างและน้ำหนัก
2. การบริโภคเพื่อแสวงหาความอิ่มเอมใจ
แนวคิดการบริโภคเพื่อให้ตัวเองมีความสุข คือแนวโน้มการบริโภคของชาวจีน Gen Z ยุคใหม่ โดยเน้นการบริโภคเพื่อผ่อนคลายและให้รางวัลกับตัวเอง โดยทั้งกลุ่ม Gen Y และ Gen Z จะมีพฤติกรรมรับประทานขนมขบเคี้ยวทั้งในเวลาที่อารมณ์ดี ในช่วงของการพักผ่อน รวมทั้งเวลาที่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน หรือเมื่อต้องการให้รางวัลตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีชาวจีน Gen Z กว่า 40% ที่มีพฤติกรรม “อยากกินก็กิน” โดยไม่ต้องคำนึงถึงอะไรเป็นพิเศษ
3. ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกและเพื่อประหยัดเวลา
ชาวจีน Gen Z 62.59% มีค่าใช้จ่ายในการกินเฉลี่ย 30 – 100 หยวนต่อวัน (150 – 500 บาทต่อวัน) และนิยมแสวงหาประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และเพลิดเพลินกับอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น แม้ว่าราคาอาจจะต้องจ่ายมากขึ้น เพื่อให้ได้รสชาติที่หลากหลาย ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และมีบรรจุภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมแปลกใหม่มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าคุณภาพสามารถดึงดูดชาวจีน Gen Z ได้มากกว่าราคาถูก
นอกจากนี้ ยังนิยมการสั่งอาหารเดลิเวอรีมากที่สุด เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการทำอาหารรับประทาน รวมทั้งอาหารกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารพร้อมทานก็จะเป็นกลุ่มตัวเลือกที่ Gen Z มีความสนใจ เพื่อช่วยประหยัดแรง ประหยัดเวลาในการทำอาหาร และยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพและโภชนาการ โดยจะนำเสนอรูปแบบของอาหารที่มีน้ำมัน เกลือ และน้ำตาลต่ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถตอบสนองความต้องการในการแสวงหาด้านสุขภาพของชาวจีน Gen Z ได้เป็นอย่างดี
4. มีความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น
หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ปัจจัยเรื่องสุขอนามัย กลายมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีน มากขึ้น โดยพบว่าชาวจีน Gen Z เกือบ 70% ให้ความสำคัญต่อเรื่อง Food Safety เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันชาวจีน Gen Z เลือกทำอาหารรับประทานเองเพื่อขจัดปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร รวมท้ังปัจจัยเรื่องมีต้นทุนต่ำ มีโภชนาการ รสชาติอร่อยตามความชอบตัวอง และทำเป็นงานอดิเรก ซึ่งอาหารโฮมเมดยังสามารถรับประกันได้ถึงคุณภาพของส่วนผสม สุขอนามัย และยังหลีกเลี่ยงการเติมสารเติมแต่งได้อีกด้วย ซึ่งแนวโน้มการเลือกบริโภครูปแบบนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกของชาวจีน Gen Z ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเสรี ยั่งยืน และมีสุขภาพดีในสังคมสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน