มธ.ร่วม ofo บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะมุ่งสู่ Smart Campus

ofo ผู้นำบริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะร่วมกับมธ. ประกาศความสำเร็จหลังทดลองเปิดให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะหรือ Bike Sharing ในมธ. ศูนย์รังสิต เป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Smart Campus และการเตรียมความพร้อมนักศึกษาและบุคลากรสู่ Sharing Society

“ เราอยากให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวอย่างในการสัญจรที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ ดังนั้นจักรยานจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของความเป็นเมืองในทุกที่ของโลก และเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด”

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวก่อนที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกันกับ นพพล ตู้จินดา ผู้จัดการทั่วไป ofo ประเทศไทย ในการเปิดให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะหรือ Bike Sharing อย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

นพพล ตู้จินดา ผู้จัดการทั่วไป ofo ประเทศไทยเปิดเผยว่า “จักรยาน ofoได้เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยขณะนั้นมีจักรยานให้บริการ 1,000 คันซึ่งจากผลตอบรับที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากนักศึกษาธรรมศาสตร์คณาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยส่งผลให้มียอดผู้ใช้งานต่อวันสูงติดอันดับต้นๆจากสถิติการใช้งานจักรยาน ofo ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกทำให้ล่าสุดจึงได้มีการเพิ่มจำนวนจักรยานให้เพียงพอกับความต้องการโดยได้เพิ่มเป็น 3,500 คันแล้ว”


เดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการประชากรนักศึกษา คณาจารย์และบุคคลากรประมาณ 35,000 คน ในจำนวนนี้ใช้จักรยานในการสัญจร 7,000 คัน แต่หลังจากที่มีการให้บริการจักรยาน ofo เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมามีผู้หันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอีก 7,000 คน โดยขณะนี้ทาง ofo มีจักรยานให้บริการประมาณ 3,500 คัน หรือมีนักศึกษาใช้ 1 หมื่นเที่ยวต่อวัน

หลังจาก ofo ได้เริ่มทดลองเปิดให้ใช้จักรยานสาธารณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จากนั้นก็เริ่มมีหลายมหาวิทยาลัยขอเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งทาง ofo ได้จับมือจังหวัดภูเก็ต ทำโครงการ Smart City เพื่อรณรงค์ให้ชาวภูเก็ตหันมาใช้บริการจักรยานสาธารณะมากขึ้น

ปัจจุบันการเปิดบริการจักรยานสาธารณะของ ofo ยังเป็นรูปแบบให้บริการฟรี และตั้งแต่มกราคม 2561 เป็นต้นไป จะเก็บค่าบริการครี่งชั่วโมง 5 บาท

จักรยาน ofo ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการเดินทาง Point to Point ในรัศมีการเดินทาง 1 – 5 กิโลเมตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและแก้ไขปัญหาที่จอดรถในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัดโดย Bike Sharing เป็นบริการเช่ารถจักยานที่นำเทคโนโลยีประสานกันผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน  สามารถค้นหาจักรยานได้บนแผนที่ การใช้จักรยานเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด ( QR Code ) เพื่อปลดล็อคจักรยาน และทุกคนสามารถแชร์รถจักรยานได้ทุกคัน ส่วนการจอดเพียงหาจุดจอดในสถานที่ที่กำหนดไว้ โดยจะแสดงบนหน้าจอแอปพลิเคชั่นเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของจุดจอดและจุดให้บริการ

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายเป็น Sustainable University คือการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อมและประชากร และในปีนี้เริ่มเข้าสู่แนวคิด Smart Campus ผ่านโครงการด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรมต่าง ๆ รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ Bike Sharing ด้วย

ดร.ปริญญาได้เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามสร้างวัฒนธรรมการขี่จักรยานมานานแล้ว

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคคลากรหันมาใช้จักรยานเพื่อลดปัญหาโลกร้อนและลดคาร์บอนไดออกไซต์ ด้วยการจำหน่ายจักรยานในราคาถูกให้แก่นักศึกษา และทำโครงการจักรยานคันแรกสำหรับนักศึกษาปี 1 ที่มาลงทะเบียนจะได้รับเงิน 500 บาทเพื่อนำไปซื้อจักรยานคันแรกใช้ในมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันเราก็ทำทางจักรยานให้สะดวกและมีจำนวนเพิ่มขึ้น”

ปี 2554 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทุนจากบริษัทไทยน้ำทิพย์ 2 ล้านบาท เพื่อซื้อจักรยาน 500 คันมาให้บริการนักศึกษาเป็นโครงการ Bike Sharing แต่ก็มีปัญหาเรื่องระบบการคืนซึ่งยังต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแล จึงได้มีการปรับปรุงมาใช้แบบมีสเตชั่น คือยืมที่ไหนและคืนที่ไหนก็ได้โดยใช้บัตรนักศึกษาแตะคืนและมาถึงยุคปัจจุบันคือ Stationless โดยการร่วมมือกับ ofo จึงสามารถทำเป็น Smart Campus

ดร.ปริญญาเปิดเผยถึงแผนเร่งด่วนคือ การทำ Bike Lane ให้เชื่อมต่อกันทุกจุดในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่ายาวที่สุดในประเทศไทยคือ 13 กิโลเมตร ในอนาคตว่าจะต้องปรับปรุงเส้นทางสำหรับจักรยานให้ดีขึ้นมีหลังคากันแดด และมีที่จอดจักรยานครบทุกอาคาร เพื่อจูงใจให้คนหันมาใชัจักรยานมากขึ้น และสุดท้ายคือการออกมาตรการให้รถยนต์เข้าในพื้นที่ชั้นในน้อยลง

 

 

Stay Connected
Latest News