SCB EIC คาด EV ทั่วโลก ขายแซงรถอื่นๆ ภายในปี 2578 ส่วนตลาดประเทศไทยปีนี้เติบโต 430% ยอดจดทะเบียนกว่า 4.95 หมื่นคัน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้ข้อมูลว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกมีการขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้จะอยู่ที่กว่า 10% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด และมีแนวโน้มสร้างยอดขายแซงหน้ารถยนต์ประเภทอื่นๆ ได้ภายในปี 2578 เป็นต้นไป

ขณะที่ตลาด EV ในประเทศไทยยังคงสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถ EV ในปี 2566 นี้ จะอยู่ที่ราว 4.95 หมื่นคัน หรือเติบโตสูงถึง 430% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มียอดจดทะเบียนกว่า 9,300 คัน ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด จาก 1.1% ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พบว่า แบรนด์จากประเทศจีนได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ และมีส่วนแบ่งตลาดราว 80% จากยอดขาย EV ทั่วประเทศ พร้อมพบปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดมาจาก แนวโน้มราคาพลังงานที่ผันผวน นโยบายอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ รวมถึงเทรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง รวมทั้งการพัฒนาความพร้อมของสถานีชาร์จที่ถือว่ามีแนวโน้มกระจายตัวและครอบคลุมไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนสถานีชาร์จราว 1,400 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์หลายแห่งก็เริ่มเดินสายการผลิตและก่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่า กำลังผลิตของประเทศไทยจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 แสนคันต่อปี ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามอานิสงส์จากการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ EVs รายใหม่ ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการจ้างงานและมูลค่าเพิ่มจากการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง​ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ประกอบด้วย

 ระยะสั้น

– การเผชิญแรงกดดันจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อในภาพรวมยังคงปรับแย่ลง

ระยะกลาง – ระยะยาว

– การปรับตัวกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าและเทรนด์ ESG ที่กำลังมาแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพอากาศ หรือ Climate transition risk ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องติดตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ทำให้กระบวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนต้องมีการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้อง

การที่ผู้บริโภคและนักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสำคัญและตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น (Shifting consumer behavior และ Responsible investing trend)โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถือว่ามีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับสูง กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางบวกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โ​ดยพบผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายโดยหันมาสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองถึงวิสัยทัศน์และความโปร่งใสในการขับเคลื่อนธุรกิจมาประกอบการตัดสินใจ เช่นเดียวกับนักลงทุน ที่เริ่มปรับแผนการลงทุนมาเน้นในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางบวกผ่านปัจจัยด้าน ESG เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจลงได้

 

Stay Connected
Latest News