เริ่มขับเคลื่อน​ Thailand Taxonomy นำร่องภาคขนส่งและพลังงาน พร้อมความท้าทายช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

ประเทศไทยได้เริ่มประกาศใช้ “มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” หรือ Thailand Taxonomy  เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพื่อกำหนดนิยามกิจกรรมสีเขียว ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสากลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

แม้ว่า Thailand Taxonomy จะไม่ใช่กฎหมายหรือข้อบังคับ แต่นับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน จะใช้เป็นกลไกสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกระตุ้นให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินกิจกรรม/ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การวางนโยบายและการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน การจัดสรรเงินลงทุน การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

โดยระยะแรก Thailand Taxonomy จะครอบคลุมภาคขนส่งและภาคพลังงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก​ (GHG) รวมกันเกือบ​ 70% ของปริมาณทั้งหมดที่ถูกปล่อยในไทยแต่ละปี จากนั้นจึงจะขยายความครอบคลุมไปยังภาคอื่นๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ยานพาหนะสีเขียวต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีการปล่อยไอเสีย หรือการมุ่งเน้นสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และกำหนดให้การลงทุนโรงไฟฟ้าฟอสซิลใหม่เข้าข่ายกิจกรรมสีแดง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางในการลด GHG

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติภายใต้บริบทของไทย จังหวะการปรับตัวของธุรกิจก็อาจจะยังทำได้ไม่เร็วตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้โดยเฉพาะในระยะเฉพาะหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวแม้จะสร้างอานิสงส์ให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสะอาด ทว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของไทย เส้นทางการปรับตัวของภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญโจทย์ที่ท้าทายทั้งในบริบทอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

โดยใน ภาคขนส่ง แม้ กลุ่มขนส่งคน ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงปรับเปลี่ยนสู่เทคโนโลยี EV ทว่าการเปลี่ยนผ่านก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยจำนวน EV สะสมในภาคธุรกิจอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงเกือบ 1.5 หมื่นคัน ในเดือน พ.ค. 2566 จากตัวเลขไม่ถึง 600 คัน ในปี 2562 แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่าสัดส่วน EV จะมีอยู่เพียง 3% ของรถในภาคขนส่งทางธุรกิจทั้งหมด สะท้อนว่า การปรับสู่ยานพาหนะสีเขียวของภาคธุรกิจยังคงมีเส้นทางอีกยาวไกล รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังไม่นิ่งและยังเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต รวมทั้งการตัดสินใจของภาครัฐต่อกรณีการต่ออายุ​มาตรการสนับสนุนด้านราคาต่างๆ ที่กำลังใกล้จะสิ้นสุดลง และความพร้อมของจุดชาร์จและการซ่อมบำรุง ภายใน Ecosystem โดยรวม

ด้าน กลุ่มขนส่งสินค้า ยังมีความไม่พร้อมหลายด้าน โดยเฉพาะจากการปรับมาใช้เชื้อเพลิงสะอาดที่แทบจะยังไม่ได้เริ่มต้น มีเพียงรถขนส่งขนาดเล็กอย่างรถบรรทุกขนาดเล็กหรือรถกระบะ ส่วนรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านสมรรถนะของเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และระดับราคายานพาหนะที่สูงกว่าเครื่องดีเซลมากกว่าเท่าตัว และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ไม่ครอบคลุม เพราะยังจำกัดอยู่เพียงรถกระบะไฟฟ้า จึงเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านสู่รถบรรทุก EV ของไทยจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

ขณะที่ ภาคพลังงาน แม้ภาครัฐมีนโยบายมุ่งสู่การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) และลดบทบาทไฟฟ้าฟอสซิล โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิต RE จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 13%  ให้เป็น 68% ภายในปี 2583 และขยับเป็น 74% ภายในปี 2593 ของอุปทานไฟฟ้าทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติยังมีความท้าทายในหลายประเด็น ทั้งข้อจำกัดของ RE ในแต่ละประเภท และแนวโน้มอุปสงค์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยมากกว่า 3% ต่อปี  ทำให้การถอยจากไฟฟ้าฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้าสีเขียวคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยปัจจุบันยังมีการใช้ฟอสซิลอยู่มากถึง 70%

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแต่ละประเภท ต่างก็มีข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกัน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ จะมีข้อจำกัดจากแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ ที่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน ฤดูกาล และสภาพภูมิประเทศ ส่วนพลังงานลม จะมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมของภูมิประเทศที่มีศักยภาพในการใช้ผลิต ส่วนพลังงานชีวภาพ/ ชีวมวล ก็จะมีข้อจำกัดด้านปริมาณเชื้อเพลิงที่อาจไม่เพียงพอและความผันผวนด้านราคา โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนสู่ธุรกิจสีเขียวของประเทศไทยเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการผลักดันและสนับสนุน Ecosystem ของกิจกรรมสีเขียว ควบคู่ไปกับการดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในการปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs รวมทั้งบทบาทของสถาบันการเงิน ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้กระบวนการในการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งปัจจุบัน ยอดเงินสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจพลังงานและขนส่งของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่  1.08 ล้านล้านบาท หรือ 6% ของยอดสินเชื่อรวมทั่วประเทศ โดย 21% เป็นสินเชื่อที่ใช้สนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ​

นอกจากนี้ ยังมีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในธุรกิจกลุ่มพลังงานและขนส่ง มูลค่าประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือ 28% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ออกโดยธุรกิจกลุ่มพลังงานและขนส่งในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความพร้อมของธุรกิจกลุ่มพลังงานและขนส่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงจำกัดอยู่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปรับตัวของธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวนั่นเอง

Stay Connected
Latest News