Booking.com จัดทำรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2566 โดยรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 33,000 คนจาก 35 ประเทศ พบว่า ผู้เดินทางรู้สึกลังเลใจ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กับการพิจารณาเลือกตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ผู้เดินทางชาวไทย 84% มองว่า ต้องเริ่มทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาโลกของเราตั้งแต่วันนี้ และเลือกตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้นเพื่อปกป้องโลกให้คนรุ่นใหม่ โดย 42% มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแย่ลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า ทำให้ 92% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า พวกเขาอยากเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ขณะที่ 87% มองวิกฤตพลังงานโลกและค่าครองชีพที่สูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อการวางแผนการใช้จ่ายของพวกเขา รวมทั้ง 46% เชื่อว่าวิกฤตค่าครองชีพจะแย่ลง ส่งผลให้ผู้คนไม่แน่ใจว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นอันดับแรก เมื่อต้องพยายามหาสมดุลระหว่างสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ กับความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้เดินทางชาวไทยเกินครึ่ง หรือ 53% มองว่าตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ส่งผลให้การเดินทางอย่างยั่งยืนได้มาถึงทางแยก ที่ผู้คนเริ่มกังวลว่าจะต้องเลือกอะไร ระหว่างความยั่งยืนกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อว่า การเลือกเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหันมาใส่ใจมากขึ้น โดยมีถึง 71% ที่ยอมจ่ายมากขึ้น ให้กับตัวเลือกที่มีการรับรองมาตรฐาน เพื่อมั่นใจได้ว่าตัวเองได้มีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมท้ังมีบางส่วนที่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยน เพื่อมองหาตัวเลือกด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนที่คุ้มค่ามากขึ้น และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น 45% ต้องการส่วนลดและข้อเสนอที่จูงใจด้านราคา ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับผู้ที่ต้องการได้รับคะแนนสะสมมากขึ้น สำหรับการนำไปแลกสิทธิพิเศษ
ทั้งนี้ อุปสรรคของผู้เดินทางไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและไม่มีตัวเลือกที่มากพอ โดยพบว่าอุปสรรคต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมา เช่น 70% มองว่าตัวเลือกที่มีไม่มากพอ และ 83% ที่ต้องการให้บริษัทที่ให้บริการเดินทางเสนอตัวเลือกที่มีความรักษ์โลก หรือการเดินทางอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ 54% ของผู้เดินทางไม่รู้ว่าจะหาตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนได้จากที่ใด และ 55% ไม่รู้ว่าจะหาทัวร์และกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างไรหรือจากที่ใด ที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถคืนกำไรจากการท่องเที่ยวให้ชุมชนท้องถิ่นได้ ซึ่งมีถึง 86% ที่มองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่นำเสนอวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง
สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจด้วยข้อมูลที่เป็นจริง
ท่ามกลางความวิตกกังวลที่มากขึ้นในเรื่องของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เดินทางได้กลายเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบมากขึ้น และเริ่มมองหาวิธีการใหม่ๆ สำหรับการออกเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาวันหยุดพักผ่อนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ทั้งการมองหามาตรฐานการรับรองด้านความยั่งยืนที่เชื่อถือได้ที่ครอบคลุมตัวเลือกการเดินทางทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการจอง ดังนั้น อุตสาหกรรมการเดินทางจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
โดยพบว่า 40% มักจะมองหาแบรนด์ที่มีการดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืน หรือสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน และ 85% จะรู้สึกดีกับการเข้าพักมากขึ้น หากทราบว่าที่พักนั้น ๆ ได้รับใบรับรองหรือป้ายสัญลักษณ์สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืน และ 81% ที่ต้องการทำให้จุดหมายปลายทางที่เคยไปเยือนนั้นดีกว่าที่เคย
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางชาวไทย 45% ในปัจจุบันไม่ได้ไว้วางใจว่าตัวเลือกการเดินทางที่ได้รับรองว่ามีมาตรฐานด้านความยั่งยืนจะเป็นตัวเลือกที่ยั่งยืนมากกว่าตัวเลือกอื่น ๆ อย่างแท้จริง แต่ก็มีถึง 79% ที่ต้องการให้มีตัวกรองที่สามารถคัดเฉพาะที่พักที่ได้รับใบรับรอง หรือป้ายสัญลักษณ์สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืนในการจองครั้งถัดไป