กินครีบ&ส่วนอื่นๆ ของฉลาม เสี่ยงได้รับสารปรอทแคดเมียมสะสม

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid )รายงาน ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกหูฉลามแปรรูปรายใหญ่ของโลก และมีแนวโน้มที่ความต้องการภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น


เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งของไทย และเป็นเทศกาลที่นิยมบริโภคหูฉลาม ผลการสำรวจขององค์กรไวล์ดเอดพ.ศ. 2560 พบ งานรวมญาติเป็น 1 ในวาระโอกาสที่คนไทยบริโภคหูฉลามบ่อยครั้งที่สุด

นอกจากนั้น คนไทย มีความตระหนัก “น้อย” เรื่องผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามต่อประชากรฉลามโลก จึงขอให้คนไทยเลิกบริโภคหูฉลาม เพื่อปกป้องฉลามหลายสายพันธุ์จาก วิกฤตการณ์ประชากรลดลงจนน่าเป็นห่วง

“ผมเชื่อว่าทุกๆ คนอยากจะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และเราหวังว่า การเลิกบริโภคหูฉลาม จะเป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งใจทำร่วมกันเพื่อปกป้องฉลาม เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า” ปีเตอร์ ไนท์ส ผู้อำนวยการองค์กรไวล์ดเอด กล่าว

แต่ละปีมีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบจากฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น “ซุปหูฉลาม” ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประชากรปลาฉลามบางสายพันธุ์ลดลงมากถึง 98% โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการค้าหูฉลาม และความต้องการบริโภคหูฉลาม

“ฉลามมีบทบาทสำคัญในท้องทะเลที่ไม่เหมือนปลาอื่นๆ ฉลามทำหน้าที่รักษาความสมดุลของมหาสมุทร ที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเล ควบคุมประชากรปลาและสัตว์ทะเลอื่นที่เป็นอาหารของมนุษย์ให้มีความสมดุล หากไม่มีฉลาม ระบบนิเวศอาจถูกทำลาย”

รายงานล่าสุดขององค์กรไวล์ดเอดที่มีชื่อว่า “ฉลามเผชิญวิกฤต : ภัยคุกคามจากตลาดใหม่นอกจีนแผ่นดินใหญ่” (Sharks in crisis : Evidence of positive behavioural change in China as new threats emerge)” พบ ฉลามกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ถูกล่า จากความต้องการบริโภคในตลาดใหม่นอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งรวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และประเทศไทย แม้ความต้องการบริโภคหูฉลามในจีนลดลง มากถึง 80% ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ตามรายงานของคณะทำงานอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) เมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขการนำเข้าหูฉลาม และยอดขายหูฉลามในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองกว่างโจว ลดลง 81% ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2557 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในจีนเกิดขึ้นจากปัจจัย หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักให้ชาวจีนเห็นความสำคัญ ของการอนุรักษ์ฉลามมาตลอดหลายปี และการที่รัฐบาลจีนห้ามเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐเมื่อ พ.ศ.2556

ผลสำรวจองค์กรไวล์ดเอด พ.ศ. 2560 พบว่า คนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วประเทศบริโภค หูฉลามอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญของการค้าหูฉลาม โดยคนไทย 57% เคยบริโภค หรือยังคงบริโภคหูฉลามตามโอกาสต่างๆ

ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทย 61% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยให้เหตุผล เพราะความอยากรู้อยากลอง และได้ยินมาว่าหูฉลามมีรสชาติดี ทั้งที่จริงแล้วหูฉลามไม่มีรสชาติ แต่มาจากน้ำซุปที่ผ่านการปรุงรส

ฉลามยังเผชิญกับภัยคุกคามอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการบริโภคเนื้อฉลาม และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น น้ำมันตับปลาฉลามที่ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และถูกกล่าวอ้างสรรพคุณต่างๆ ทั้งที่ในความเป็นจริง การบริโภคครีบ และส่วนอื่นๆ ของฉลาม เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษที่สะสมอยู่ในตัวฉลามอย่างสารปรอทแคดเมียม ซึ่งหากร่างกายสะสมสารเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท

นอกจากนี้ ฉลามหลายล้านตัวต่อปียังตกเป็นเหยื่อจากการทำประมงทูน่าเพื่อการพาณิชย์อีกด้วย

Stay Connected
Latest News