9 Insight เกี่ยวกับตัวเลข ‘วันหมดอายุ’ ของตลาดอเมริกา มากกว่าแค่บอกเวลาบริโภค แต่คุมทั้ง Food Waste แถมช่วยสโตร์บริหารสต็อก

ตามปกติสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมักจะต้องมีการกำหนดวันหมดอายุ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยรูปแบบการระบุวันที่บนฉลาก คือ วันที่ควรบริโภคก่อน (Best Before) ซึ่งเป็นการกำหนดระยะเวลาที่ดีที่สุดในการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ัน แม้ว่าจะล่วงเลยวันที่ระบุไปแล้วก็ยังคงสามารถบริโภคสินค้านั้นๆ ได้ กับอีกรูปแบบคือการระบุ วันหมดอายุ (Expired Date) ซึ่งหมายถึงวันสุดท้ายที่จะสามารถบริโภคผลิตภัณฑ์น้ันได้ และหากล่วงเลยวันที่ระบุไว้แล้วไม่ควรนำไปบริโภคเพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

แต่รู้หรือไม่ ในบางตลาดเช่น สหรัฐอเมริกา หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร ไม่ได้วางกฏระเบียบเรื่องของการระบุวันหมดอายุบนฉลากสินค้า มีเพียงสินค้าบางกลุ่มเท่านั้น ที่จำเป็นต้องกำหนดให้ระบุวันหมดอายุไว้ ส่วนคำที่ใช้เพื่อบอกระยะเวลาในการบริโภคก็มีหลากหลายมากกว่าแค่ Expired Date หรือ Best Before เท่านั้น และนี่คือ 9 เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฏระเบียบในการระบุวันหมดอายุในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย

1. หน่วยงานท่ีดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (USFDA) และ​กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA)  ไม่มีกฎระเบียบเรื่องการระบุวันหมดอายุบนฉลากสินค้า โดยมองว่าการระบุวันที่บนฉลากเป็นการแนะนำระยะเวลาในการใช้สินค้า แต่ไม่ได้หมายถึง การระบุถึงความปลอดภัยของสินค้า เนื่องจาก สินค้าสามารถที่จะเน่าเสียและไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคได้ก่อนวันที่ที่ระบุบนฉลาก หากมีการผลิตที่ไม่ดี หรือมีการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดความเสียหายของบรรจุภัณฑ์

2. กฎหมายสหรัฐฯ จะบังคับให้โรงงานผลิตสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เรื่องอายุของสินค้าที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยจึงเป็นความรับผิดชอบของโรงงานผลิต ส่วนการระบุระยะเวลาการใช้บนฉลากสินค้าถือเป็นการกระทำตามความสมัครใจของเจ้าของ สินค้า หากเจ้าของสินค้าต้องการระบุระยะเวลาที่แนะนำให้ใช้สินค้า ซึ่งการระบุดังกล่าวต้องเป็นไปตามความเป็นจริง และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

3. รัฐบาลกลางสหรัฐฯ วิตกกังวลว่า การระบุวันที่บนฉลาก สินค้าอาหารทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคทิ้งอาหารที่ยังคงมีคุณภาพดีสำหรับการบริโภค และเป็นการเสียของโดยไม่จำเป็น รวมท้ังกำลังหาทางที่จะตั้งกฎระเบียบอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างมาตรฐานเรื่องการระบุวันที่บนสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ และเพื่อลดปัญหาการทิ้งอาหารทั้งๆ ที่ยังสามารถบริโภคได้  โดยทาง USFDA คาดว่ามีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งโดยไม่จำเป็นในแต่ละปีถึงกว่า 1.61 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

4. สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (USFDA) ไม่มีกฏระเบียบเรื่องของการระบุวันหมดอายุของสินค้าที่อยู่ภายในแพกเกจต่างๆ ไว้ ทั้งในกลุ่มอาหารหรือเครื่องสำอาง​ ยกเว้น สินค้า 2 กลุ่มที่ทาง USFDA บังคับให้ผู้ผลิตต้องระบุ “วันหมด อายุ – Expiration Date” บนฉลาก นั่นคือ นมสำหรับเด็กอ่อน (infant formula) และยารักษาโรค (ตามคำจำกัดความของ USFDA ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าสำหรับการบำรุงรักษาร่างกาย รวมทั้ง personal care products บางรายการ เช่น เครื่องสำอางป้องกันและรักษาสิว ก็ถือว่าเป็นยารักษาโรคด้วยเช่นกัน) ​

5.  เพื่อสามารถระบุระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งในเชิงคุณสมบัติ ความแข็งแกร่ง ความบริสุทธิ์ และ คุณภาพของสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ​​ภายใต้การเก็บรักษาตามที่มีการระบุแจ้งไว้บนฉลากสินค้า  จะได้มาจากกระบวนการทดสอบสินค้าในระหว่างการผลิตที่ผู้ผลิตต้องนำเสนอต่อ USFDA ในขณะที่สมัครขอการรับรองสินค้ารายการดังกล่าวจาก USFDA

6. เพื่อป้องกัน​ปัญหาการขาดแคลนยารักษาโรคในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉิน USFDA จัดทำโปรแกรม Shel-Life Extension Program (SLEP) ที่ยินยอมให้สามารถยืดอายุ วันที่หมดอายุของสินค้าเวชภัณฑ์บางรายการที่อยู่ในสต๊อกของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หลังจากที่ USFDA ได้ทดสอบยา นั้นๆ แล้วว่ายังคงปลอดภัย สำหรับการใช้ต่อภายหลังวันที่ระบุว่าหมดอายุ

7. สำหรับสินค้าภายใต้การควบคุมของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA)​  การระบุวันหมดอายุจะเป็นไปตามกฎระเบียบของ Food Safety and Inspection Service (FSIS)  คือ ต้องระบุวัน เดือน ปี ตามมาด้วยคำแนะนำ ซึ่ง USDA ระบุความหมายไว้เช่น

–  Best if Used by …/Best Before… ซึ่งไม่ได้หมายถึง วันที่ที่ปลอดภัยที่จะซื้อสินค้านั้นไปบริโภค แต่หมายถึง วันที่ที่สินค้าจะมีรสชาติหรือคุณภาพที่ดีที่สุด

Sell-By…. ไม่ได้ระบุวันที่ที่สินค้ายังคงปลอดภัยที่จะบริโภค แต่เป็นการช่วยร้านค้าปลีกในการบริหารจัดการสต๊อก ด้วยการบอกร้านค้าปลีกถึงระยะเวลาที่ร้านควรจะวางสินค้าไว้จำหน่าย

Used-By… เป็นการระบุวันที่แนะนำให้ใช้สินค้า ในขณะที่สินค้ายังอยู่ในสภาวะที่มีคุณภาพสูงสุด แต่ไม่ได้หมายถึงวันที่ที่สินค้ายังคงปลอดภัยที่จะบริโภค

Freeze-By…เป็นการระบุวันที่ที่สินค้าควรจะถูกนำ ไปแช่แข็ง (frozen) เพื่อรักษาคุณภาพให้อยู่ในสภาวะที่ดีที่สุด

8. USDA มีข้อแนะนำสำหรับโรงงานผลิตที่ต้องการระบุระยะเวลาในการใช้สินค้า คือ ต้องพิจารณาเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่สินค้าจะอยู่ในตลาด  สภาวะอุณหภูมิในระหว่างการกระจายสินค้า และในสถานที่ที่สินค้าวางจำหน่าย ลักษณะของอาหาร และลักษณะการทำบรรจุภัณฑ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้า

9. รูปแบบการระบุวันที่บนฉลากสินค้าในสหรัฐฯ โดยทั่วไปแล้วจะใช้รูปแบบ เดือนนำหน้าปี เช่น MM/YY หรือ MM-YY ในกรณีสินค้าที่ USFDA มีกฎระเบียบ กำหนดว่าต้องระบุวันที่กำหนดระยะเวลาการใช้  รูปแบบการระบุต้องเป็น ปี เดือน วัน เช่น YYYY-MM-DD สำหรับกรณีที่เป็นการระบุด้วยตัวเลข หรือ YYYY-MMMDD ในกรณีที่ระบุเดือนด้วยตัวอักษร

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

Stay Connected
Latest News