หน่วยงานต่างๆ ในออสเตรเลีย นำโดย Tetra Pak (เต็ดตรา แพ้ค) ผู้นำโซลูชันการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก ร่วมกับ saveBOARD บริษัทรับกำจัดและรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ Sig Combibloc ภายใต้ Global Recycling Alliance for Beverage Cartons and the Environment (Grace) และ Freightways ร่วมเปิดโรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม เพื่อนำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนเป็นแห่งแรกในออสเตรเลีย
โดยโรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มแห่งแรกของออสเตรเลียนี้ อยู่ในเมือง Warragamba รัฐนิวเซาท์เวลส์ มูลค่ากว่า 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถรีไซเคิลกล่องบรรจุภัณฑ์ อาทิ กล่องนมและน้ำผลไม้ ได้มากถึง 4,000 ตันต่อปี เพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบและเปลี่ยนเป็นวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนสำหรับนำไปใช้ในการก่อสร้างบ้านและสำนักงาน เพื่อเป็นวัสดุทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้ไม้อัด หรือไม้กระดาน ที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ แต่ละปีออสเตรเลียผลิตขยะประมาณ 76 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการสร้างก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่มีอัตรารีไซเคิลประมาณ 16% ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยทางออสเตรเลียมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลให้เพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในปี 2568 นี้ ซึ่งการเปิดโรงงานรีไซเคิลจากกล่องบรรจุภัณฑ์แห่งแรกคร้ังนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ จากการไปรวบรวมกล่องบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วมาจากจุด Return and Earn ที่ประชาชนนำมาใส่ไว้ตามจุดต่างๆ และนำมาเข้าสู่กระบวนการย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ และใช้ความร้อนอัดเป็นแผ่น เพื่อผลิตเป็นเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความยั่งยืน อาทิ แผ่นไม้อัด ไม้กระดาน ฟลอร์บอร์ด โปสเตอร์บอร์ด หรือชิปบอร์ด เป็นต้น
ขณะที่ปัญหาปริมาณขยะฝังกลบที่เพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลเป็นอีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วนในออสเตรเลีย พร้อมจุดประกายในการให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระงับโครงการ REDcycle ซึ่งถือเป็นโครงการรีไซเคิลพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย หลังพบความล้มเหลวว่าโครงการนำพลาสติก Single-use ที่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่อย่าง Woolworths และ Coles ไปเก็บรวบรวมไว้โดยไม่ได้นำไปรีไซเคิลจริง ประกอบกับมาตรการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกของจีน ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักในการส่งออกขยะพลาสติกของออสเตรเลีย ส่งผลให้ปริมาณขยะฝังกลบของออสเตรเลียพุ่งสูงมาก และสะท้อนปัญหาด้านศักยภาพในการรีไซเคิลของออสเตรเลีย
Andre Pooch กรรมการผู้จัดการของเต็ดตรา แพ้คออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของพันธสัญญาด้านความยั่งยืนของบริษัท บริษัทจะมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้บรรจุภัณฑ์จำนวนมากขึ้นสามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายบรรจุภัณฑ์แห่งชาติปี 2568 ซึ่งความร่วมมือกับ SaveBoard จะช่วยพัฒนานวัตกรรมในการรีไซเคิลในการต่อยอดไปสู่คุณค่าในหลากหลายรูปแบบ และช่วยให้ผู้บริโภคมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตแห่งความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ SaveBoard มีแผนเปิดโรงงานรีไซเคิลอีกแห่งในแคมป์เบลล์ฟิลด์ รัฐวิกตอเรีย ในปี 2567 หลังจากได้รับเงินสนับสนุน 1 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลรัฐวิกตอเรีย เนื่องจาก อุตสาหกรรมนี้ต้องการการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงธุรกิจและรัฐบาลกลาง รวมไปถึงผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคด้วย