สาย Specialty สะเทือน! เมื่อวงการ Food Science เริ่มคิดค้น ‘กาแฟจากห้องแล็บ’ หลังสภาพอากาศกระทบซัพพลาย พร้อมเผชิญหลายปัจจัยลบ

ส่วนหนึ่งของข้อมูลจากการประชุมประจำปีของ  Coffee Association of Canada’s ในหัวข้อ ‘The Road Ahead.’ เกี่ยวกับภาพรวม แนวโน้ม และปัญหาในอุตสาหกรรมการปลูกกาแฟ

โดยพบว่า กาแฟยังเป็นเครื่องดื่มที่แข็งแรงในตลาดแคนาดา ​ผู้บริโภคราว 7 ใน 10 ยังคงบริโภคกาแฟอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว แม้ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตของตลาดกาแฟก็ยังคงที่ แต่เห็นได้ถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การดื่มที่บ้านมากขึ้น และพบว่าผู้บริโภคราว 1 ใน 3 ได้ซื้ออุปกรณ์ชงกาแฟชิ้นใหม่ไว้ในบ้าน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริโภค 25% จะนิยมชงกาแฟจากที่บ้านไป เมื่อต้องเดินทางออกไปข้างนอก โดยตลาดใหญ่ยังเป็นกาแฟแบบดั้งเดิมหรือ Traditional Coffee

ขณะที่ Specialty Coffee จะได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยผู้บริโภคกลุ่ม GenZ มีสัดส่วนมากที่สุด 62% ที่นิยมบริโภค Specialty Coffee เมื่อเทียบกับกลุ่ม Millenials ที่มีสัดส่วน  50% และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีสัดส่วน 30%

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมกาแฟ คือ ผลกระทบใน Supply Chain ที่เผชิญหลายปัจจัยลบ จนกระทบต่อแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ หรือ Climate change ที่กระทบแหล่งปลูกกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในแหล่งปลูกผลผลิตหลักของโลกอย่างบราซิล และเวียดนาม ที่มีสัดส่วนการปลูกผลผลิตมากกว่าครึ่งที่ราว 56% ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเมล็ดกาแฟโดยรวมของทั้งโลกลดลง

Sylvain Charlebois ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการกระจายอาหาร (Food distribution Policy) และผู้อำนวยการอาวุโสของ Agri-Food Analytics Lab แห่งมหาวิทยาลัย Dalhousie ในแคนานดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เริ่มมีการพัฒนาวิจัยกาแฟในห้องปฏิบัติการแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาด้านซัพพลายเมล็ดกาแฟที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับซัพพลายเมล็ดกาแฟในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนารสชาติให้เหมือนกับกาแฟที่ปลูกจากแหล่งธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตโลกก็ยังคงเผชิญความท้าทายในเรื่องของปัญหาสภาพอากาศ รวมทั้งโรคระบาดใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และจะเข้ามากระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการปลูกกาแฟด้วย เนื่องจาก ปัญหาราคาค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม กำลังส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ กำลังหันไปหาอาชีพอื่น เนื่องจากความกังวลว่ารายได้จะไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ตามคำกล่าวของ Kate Burnett ประธานบริษัทผู้ประกอบการกาแฟ Bridgehead 

ด้าน Fred Schaeffer ประธานและ CEO ของ Mother Parkers กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาตามแนวทางความยั่งยืน ซึ่งทุกภาคส่วนในนกลุ่มผู้ปลูกกาแฟ สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการปลูกกาแฟให้ดีขึ้นได้ ด้วยทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งการสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม การปลูกแบบกาแฟอินทรีย์ เพื่อให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยรวมแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่งและมีเอกภาพมากขึ้น

 

source

Stay Connected
Latest News