ดีลอยท์เผยผลศึกษา CXO Sustainability Report: Accelerating the Green Transition ประจำปี 2023 รายงานฉบับนี้ เกิดจากการสำรวจกลุ่มผู้บริหารระดับ CxO หรือกลุ่มผู้บริหารสูงสุด ในระดับ C Level มากกว่า 2,000 คน ใน 24 ประเทศ
รวมถึงประเด็นที่ยังวิตกกังวลและการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศที่จัดทำโดยเหล่าผู้บริหาร CxO และองค์กรของพวกเขาในปีที่ผ่านมาซึ่งต้องอยู่ท่ามกลางความท้าทายหลากหลายด้าน
โดยดีลอยท์ได้จัดทำการวิเคราะห์เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในองค์กรและกลุ่มผู้บริหาร รวมทั้งทำการสำรวจเพิ่มเติมถึงความต้องการและเป้าหมาย การลงมือปฏิบัติ และผลกระทบ ที่ไม่สอดคล้องกัน ตลอดจนขั้นตอนที่ CxO สามารถดำเนินการให้แต่ละส่วนสอดคล้องกันและเร่งให้เกิดดำเนินการไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ ผู้บริหารส่วนใหญ่มีวิสัยทัศน์ไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี และจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ แต่วิธีการและผลลัพธ์อาจไม่เชื่อมโยงกัน พร้อมยอมรับว่าองค์กรต่าง ๆ ยังคงล่าช้าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะปลูกฝังแนวคิดความยั่งยืนในการวางกลยุทธ์ การดำเนินงาน และวัฒนธรรมขององค์กร โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
1. ประเด็นเรื่องปัญหาสภาพอากาศอยู่ใน Top 3 ของปัญหาเร่งด่วนที่องค์กรต้องขับเคลื่อน
โดยได้จัดให้ปัญหาสภาพอากาศมีความสำคัญมากกว่า เมื่อพิจารณาร่วมกับอีก 7 ประเด็นสำคัญอย่าง นวัตกรรม การแข่งขันเพื่อหาบุคลากรที่มีความสามารถ และความท้าทายในห่วงโซ่อุปทาน มีเพียงประเด็นด้านแนวโน้มเศรษฐกิจเท่านั้นได้รับการจัดอันดับสูงกว่าประเด็นที่กล่าวมาเล็กน้อย
ผู้บริหารระดับสูงสุดเกินกว่าครึ่ง หรือ 61% เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์และการดำเนินงานขององค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้าในระดับสูงหรือสูงมาก ขณะที่ 3 ใน 4 หรือ 75% ขององค์กรได้เพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืนในปีที่ผ่านมา โดยเกือบ 20% ในกลุ่มนี้ มีการเพิ่มเม็ดเงินการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
2. แม้จะมีความกังวลอย่างมาก แต่ยังมีความเชื่อในทางที่ดีว่า สุดท้ายแล้วจะสามารถดำเนินการจัดการด้านสภาพอากาศได้ในที่สุด
โดยผู้บริหาร 62% มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา และเกือบทั้งหมดระบุว่าบริษัทได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัญหาสภาพอากาศในทางใดทางหนึ่ง และมากกว่า 82% ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากตัวเอง
นอกจากนี้ เกือบ 8 ใน 10 หรือ 78% ยังเชื่ออย่างมากว่า จะสามารถหาวิธีในการดำเนินการ เพื่อให้โลกสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในที่สุด
3. บริษัทต่างๆ รู้สึกกดดันอย่างมาก กับการต้องดำเนินการกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่คณะกรรมการ/ฝ่ายบริหาร ลูกค้า ไปจนถึงกลุ่มพนักงาน
โดยมากกว่าครึ่งของผู้บริหาร C Level มองว่าการที่พนักงานเข้ามาช่วยผลักดันประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสภาพอากาศ ช่วยเพิ่มการดำเนินการด้านความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ โดย 24% ที่มองว่าเป็นตัวเร่งในการดำเนินการได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ 65% มองว่ากฎระเบียบที่เปลี่ยนไปขององค์กรมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา
4. แม้จะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนและดำเนินการเพื่อรับมือปัญหาสภาพอากาศในองค์กรมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องเหล่านี้
แต่การมีผู้นำระดับสูงในองค์กรที่มองเห็นความสำคัญและสนับสนุนการผลักดันและเปลี่ยนผ่าน เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมาก โดย 21% ของผู้บริหารให้ข้อมูลว่า องค์กรของตนไม่มีแผนในการกำหนดค่าตอบแทน จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ 30% ก็ไม่มีแผนที่จะชักชวนรัฐบาลมาร่วมสนับสนุนโครงการด้านสภาพอากาศ รวมทั้งมีเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 หรือราว 29% เท่านั้น ที่มีการดำเนินเกี่ยวกับปัญหาสภาพอากาศในระดับ ‘จริงจังมาก’
และมีเพียง 46% ที่มองว่าการสร้างความเชื่อมั่นด้วย ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ หรือความเชื่อมั่นต่อประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะไปสู่ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง แม้แต่ผู้ที่ต้องอาจสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ‘มีความสำคัญอย่างยิ่ง‘ และมุมมองด้านความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ยังแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภูมิภาคและประเทศ