ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติด้วยเรื่องราวสุดพิเศษของเยาวชนผู้เป็นแบบอย่าง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจที่ดี กับเรื่องราวของ อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ หนุ่มน้อยวัย 17 ปี ที่ครอบครัวค้นพบว่า เป็นเด็กแอลดี หรือ Learning Disabilities (LD) ที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้
แต่แรงสนับสนุนของครอบครัวในความพยายามเลี้ยงดูให้อเล็กฝึกฝน พัฒนาให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ผนวกกับความสนใจ ความสามารถในตัวเองที่ได้ค้นพบ ทำให้น้องอเล็กสนใจ เรียนรู้การเป็นนักเขียนในโลกออนไลน์ บอกเล่าเรื่องราว เขียนนิยายแชต ด้วยผลงานเรื่องแรก คือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ) ผ่านแอพพลิเคชั่น Joylada (จอยลดา) มีคนติดตามอ่านจำนวนไม่น้อย และหลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นผลงานจินตนาการของเด็กแอลดี
พร้อมต่อยอดผลงานในรูปแบบของภาพวาดดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม JNFT โดยบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนา JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT สัญชาติไทย ให้การสนับสนุน และนำผลงานเชื่อมโยงจัดทำในรูปแบบแสตมป์ดิจิทัล I-Stamp พิเศษ! มีการจำหน่าย I-Stamp ภาพผลงานของอเล็ก ชนกรณ์ น่าประทับใจไปมากกว่านั้น คือ รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายแสตมป์ของอเล็ก จะมอบให้แก่ มูลนิธิออทิสติกไทย เพื่อนำรายได้ไปส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กพิเศษเพราะเชื่อว่าเด็กๆ กลุ่มนี้มีศักยภาพมีความสามารถ ขอเพียงให้โอกาส และความเข้าใจ และสนับสนุน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมเช่นคนปกติทั่วไป
คุณแม่ผู้มีความพยายามเป็นเลิศ
คุณโสภี ฉวีวรรณ คุณแม่ของอเล็ก เล่าว่า เริ่มรู้ว่าอเล็กเป็นเด็กแอลดีตอน 4-5 ขวบ หรือเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ซึ่งก่อนหน้านั้นลูกดูเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่จากการสังเกตอย่างใกล้ชิด เริ่มเห็นความแตกต่าง เช่น การพูดสลับคำ การเล่าเรื่องมีความสับสน ลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ และพูดคำบางคำไม่ชัด จึงพาไปพบคุณหมอให้ตรวจวินิจฉัย จึงพบว่า อเล็กเป็นเด็กออทิสติก แอลดี แถมมีสมาธิสั้นร่วมด้วย
“วินาทีแรกรู้สึกเสียใจ แต่ดีใจที่รู้สาเหตุที่แท้จริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ลูกอย่างตรงจุด คุณหมอแนะนำให้ลูกเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง หรือโรงเรียนที่ตอบรับลูกของเรา เพราะหากอเล็กยิ่งโตขึ้น ปัญหาเรื่องการสื่อสารจะชัดเจน และอาจจะเป็นอุปสรรคกับการเรียนและการใช้ชีวิตในสังคม”
“เกรดไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต”
การเปิดโอกาสให้ลูกค้นหาสิ่งที่ชอบก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยอเล็กได้มีโอกาสลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ 5 ขวบ เริ่มต้นด้วยการพาไปเรียนยิมนาสติก เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะเด็กแอลดีมักมีปัญหาในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมือและขา พาไปเรียนเปียโนด้วย คิดว่าดนตรีจะทำให้ลูกมีสมาธิ พาไปเรียนร้องเพลงเพื่อให้มีพัฒนาการด้านการพูดการฟังและการออกเสียงให้ชัดเจน สร้างความรู้สึกสนุก ไม่ใช่เฉพาะการฝึกพูดกับคุณหมอเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังเรียนคุมองคณิตคิดเร็ว เพราะเชื่อว่าการฝึกฝนทำซ้ำจะช่วยให้ลูกมีการคำนวณที่ดีขึ้น
ค้นพบความชอบ จุดประกายก้าวสู่โลกจินตนาการ
แม้อเล็กจะเป็นเด็กพิเศษ ออทิสติก และแอลดี แต่ก็สามารถทลายข้อจำกัดความบกพร่องที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ด้วยความมุมานะ พยายาม ฝึกฝน ลงมือทำ ผ่านบทเรียน บทพิสูจน์ที่ล้มลุกคลุกคลาน การสนับสนุนจากครอบครัว คนใกล้ชิด จนสามารถเขียนนิยายออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น Joylada “จอยลดา” ด้วยผลงานเรื่องแรกคือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ) เป็นผลงานที่สร้างความภูมิใจและความมั่นใจให้กับอเล็ก จนกล้าที่จะเดินต่อความฝันที่อยากทำ นั่นคือ การวาดภาพ อเล็กนำเรื่องราว Paper Heart มาวาดเป็นตัวละคร และฉากต่างๆ เพราะอยากให้คนอ่านได้เห็นหน้าตาตัวละคร สร้างสรรค์ภาพในหัวของตัวเอง เปลี่ยนจากตัวอักษร มาเป็นภาพ ภายใต้ชื่อผลงาน “โลกของอเล็ก” You can do it I can do it. # อย่ายอมแพ้
“ผมมีความสุขกับการวาดภาพบนหน้าจอ ดีใจมากที่ค้นพบสิ่งที่เราชอบและมีโอกาสลงมือทำ ตอนนี้ผมมีความสุขกับการเล่นเกม ดูการ์ตูนและวาดภาพบอกเล่าจินตนาการของผม ตอนนี้ ผมได้เป็น Creator ที่แม้ผมจะเป็นออทิสติก แอลดี และทำมันได้ ฝากถึงเพื่อนที่เป็นเหมือนกับผมว่าการจะมีความสุขได้ต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ค้นให้พบว่าความสุขของเราคืออะไร จริง ๆ และลงมือทำ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอายเลยครับ You can do it I can do it. # อย่ายอมแพ้”
เจ เวนเจอร์ส เผยครีเอเตอร์เด็กพิเศษคนแรก
คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล Chief of Technology บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “ความจริงแล้ว เด็กออทิสติก ที่ในสายตาคนส่วนใหญ่ อาจคิดว่าผิดแปลกไป กลับมีความสามารถในหลายๆ ด้านทัดเทียม หรืออาจจะดีกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นออทิสติกด้วยซ้ำ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่ใจดีสามารถช่วยกันฟื้นฟูและสนับสนุนเด็กออทิสติก ให้มีผลงานต่าง ๆ ออกมาสู่สังคม ดังที่ในวันนี้เจเวนเจอร์สได้ให้การสนับสนุนให้พื้นที่โชว์เคสกับน้องอเล็ก นับเป็นครีเอเตอร์เด็กพิเศษคนแรกของเรา ซึ่งไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องของความสงสาร แต่เราเล็งเห็นถึงศักยภาพการสร้างสรรค์ผลงานของอเล็กที่ไม่แพ้บุคคลปกติทั่วไป จึงอยากให้สังคมเปิดโอกาสมีพื้นที่กับกลุ่มเด็กพิเศษอย่างทัดเทียมกับคนทั่วไป”
สนใจและชื่นชอบเรื่องราวของอเล็ก สามารถแวะไปให้กำลังใจ เยี่ยมชมผลงาน พร้อมร่วมสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กพิเศษให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติที่สุด ด้วยการซื้อแสตมป์ “โลกของอเล็ก” You can do it I can do it. # อย่ายอมแพ้ ราคาแผ่นละ 200 บาท รายได้ทั้งหมดมอบให้มูลนิธิออทิสติกไทย ผลงานของอเล็กจะจัดแสดงที่ห้องเรียน Business Line & Life ชั้น 2 ศูนย์การค้าแอม พาร์ค จุฬาลงกรณ์ ซอย 9 วันนี้ถึง 14 มกราคม 2566