ผลสำรวจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น พบว่า 60% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) มาจากเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และที่อยู่อาศัย ซึ่งต่างเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต
ดังนั้น หากต้องการบรรลุเป้าหมายสู่ Net Zero ภายในปี 2593 จำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต หรือส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ช่วยลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Decarbonization เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งพยายามส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของตลาด Decarbonization และเร่งประชาสัมพันธ์แนวทางในการปฏิบัติไปยังภาคประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความตระหนักรู้ หรือเห็นถึงประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Decarbonization ในระดับสูง ก็ไม่ได้หมายความว่า จะประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติจริงได้เสมอไป เพราะจากการสำรวจโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ในประเด็น Decarbonization ของกลุ่มสินค้าแฟชั่น ที่พบว่า มีถึง 6 ใน 10 หรือ 59% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ที่สนใจต่อประเด็น Sustainable Fashion แต่จำนวนของผู้นำมาปฏิบัติจริง มีเพียงไม่ถึง 1 ใน 10 หรือที่ราว 4% เท่านั้น
รวมไปถึงตัวเลขการเติบโตของกลุ่ม Fast Fashion ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก จนทำให้ราคาสินค้าเฉลี่ยลดลงกว่าครึ่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากราคาเฉลี่ย 6,848 เยน/ตัว ในปี 2533 เหลือที่ราว 3,202 เยน/ตัว ในปี 2562 รวมทั้งตัวเลขการกำจัดเสื้อผ้า ที่มีมากถึง 1,300 ตันต่อวัน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการขับเคลื่อนแนวทาง Decarbonizationในกลุ่มนี้ให้เพิ่มมากยิ่งข้ึน เช่น การสร้างระบบการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือความพยายามของผู้ผลิต เช่น การทำป้ายชื่อไว้ 2 ป้าย ในเสื้อผ้าเด็ก เพื่อให้พี่น้องสามารถใช้ต่อกันได้ หรือเสื้อผ้าเด็กที่สามารถปรับขยายไซส์ได้ตามขนาดตัว ของ The North Face การออกแบบชุดคลุมท้องเพื่อให้สามารถใส่ต่อได้หลังจากคลอดแล้ว ของ Wacoal หรือการให้บริการซ่อมแซมเสื้อผ้าของแบรนด์ต่างๆ รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการผลิต และสามารถต่อยอดด้วยกระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลได้ต่อ เป็นต้น
ขณะที่ผลสำรวจถึงการบริโภคที่ยึดหลักจริยธรรม หรือ Ethical Consumption ของบริษัท Dentsu ซึ่งได้สำรวจในปี 2565 นี้ จากสินค้าราว 20 หมวด เพื่อโฟกัสถึงพฤติกรรม Decarbonization ที่ผู้บริโภคต้องการนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน และความตั้งใจเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้สินค้ากลุ่มแฟชั่นก็ไม่ได้ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยมากกว่าครึ่งหรือ 53.1% เป็นเรื่องของการลดความสูญเสียอาหาร หรือ Food loss ตามมาด้วยการผลิตและใช้สินค้าในท้องถิ่น 37.6% , การเดินทางโดยใช้รถสาธารณะ จักรยาน และการเดิน 34.5%, การใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน 33%, การใช้ผลิตภัณฑ์ Plastic Free 28.8% , การใช้ผลิตภัณฑ์ Recycle/ Upcycle 26.3% และการใช้พลังงานหมุนเวียน 25.1% แม้ว่าในภาพรวมของการตระหนักต่อการบริโภคอย่างมีจริยธรรมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 4.7-17% ก็ตาม
ด้านทางการญี่ปุ่น ได้วางกรอบปฏิบัติผ่าน “Zero Carbon Action 30″ ประกอบด้วยแนวทางต่อไปนี้ 1. การประหยัดพลังงาน และเปลี่ยนแหล่งพลังงาน 2. เลือกวิธีการเดินทางที่ปล่อย CO2 น้อย 3. Sustainable Fashion 4. เลือกผลิตภัณฑ์และบริการที่ปล่อย CO2 น้อย 5. สร้างบ้านที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และลดการใช้พลังงาน 6. ลดการสูญเสียอาหาร (food loss) 7. 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และ 8. เข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ