ซีอาร์จี ขับเคลื่อนธุรกิจกับแนวคิดประสบการณ์ใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม นำร่องเปิด เคเอฟซี Green Store Concept สาขาราชพฤกษ์ รุกขยายสาขาในรูปแบบโมเดลใหม่ที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น พร้อมปรับโฉมร้านให้ทันสมัยโดนใจกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างความวาไรตี้พัฒนาเมนู KFC Cafe’ by Arigato
คุณปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดและภัยพิบัติทั่วโลกได้สร้างความท้าทายในการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลก ผู้บริโภคเริ่มมองหาความยั่งยืน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผู้ประกอบการอย่างเคเอฟซีเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนเช่นเดียวกัน และด้วยนโยบายของ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่ต้องการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในมิติต่าง ๆ ด้วยการใช้แนวคิดการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม (CSV) เป็นแกนหลักในการทำงาน จึงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจกับแนวคิดประสบการณ์ใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดร้าน KFC Green Store ภายใต้แนวคิด “Journey to zero” สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าที่ ร้านเคเอฟซี สาขา โรบินสัน ราชพฤกษ์ โดยการออกแบบร้านในคอนเซ็ปต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยมุ่งเน้นไปในด้านการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยตัวอาคารออกแบบในสไตล์นอร์ดิกให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ประกอบกับโครงสร้างร้านและวัสดุในกระบวนการก่อสร้าง ที่ส่งเสริมแนวคิดเพื่อความยั่งยืน ด้วยกระจกประหยัดพลังงานในระดับสูงสุด ที่ป้องกันความร้อนผ่านกระจกในขณะที่ให้แสงส่องผ่านได้มาก, การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการประหยัดพลังงาน, การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล รวมถึงชุดพนักงานที่ตัดเย็บด้วยผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติก ตลอดจนการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การตกแต่งภายในร้าน มีมุม Education & Sharing zone ที่ตกแต่งด้วยภาพวาดจากศิลปินเด็ก ในความดูแลของ มูลนิธิซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกิจกรรมประกวดภาพวาด “สิ่งแวดล้อมในฝันของหนู” ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนไทย รวมถึงแคมเปญ “ปรับไลฟ์ ช่วยโลก กับเคเอฟซี” ที่เป็นการกระตุ้นเพื่อปรับพฤติกรรมการลดใช้พลาสติกของลูกค้า ช่วยลดปัญหาขยะ และดำเนินการคัดแยกขยะที่หน้าร้าน อีกทั้งอาหารส่วนเกินจากการจำหน่าย ที่มีคุณภาพดีสามารถนำมาบริโภคได้ ก็ดำเนินโครงการ Harvest Program รวบรวมและส่งต่อให้กับ “บ้านราชาวดี” เพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน และผู้ที่ต้องการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน เนื่องจากสามารถลดจำนวนอาหารที่จะต้องทิ้งในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติเพื่อความยั่งยืนอีกหลายประการ เช่น การใช้ระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ และการลดจำนวนการใช้หลอดไฟติดเพดาน ซึ่งสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 7% (เมื่อเทียบกับสาขาที่มีลักษณะเดียวกัน) และทำให้ร้านค้าแห่งนี้สามารถประหยัดพลังงานได้มากถึง 17,947 กิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 10,081 กิโลกรัมต่อปี อีกด้วย
ในส่วนของแผนงาน KFC Green Store สาขานี้ เป็นสาขานำร่อง จึงเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ซึ่งแบรนด์มีความพร้อมในการต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสาขาอื่น ๆ ต่อไป โดยเป้าหมาย คือ การเป็นร้านต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจที่จะลดการสร้างของเสียต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบรรจุภัณฑ์, การลดการปล่อยคาร์บอน รวมไปถึง ขยะจากเศษอาหาร เพื่อหวังที่จะจุดประกายให้ทั้งลูกค้า และภาคธุรกิจ ได้หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นต่อไปใน
9 เดือนแรก ยังเติบโตได้ 25%
สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นจากปี 64 ประมาณ 12.9% (อ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกร) โดยที่มีไฮไลท์ที่การระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงมีการฟื้นตัวของการขายอาหารที่หน้าร้านเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวเข้ากับโควิด-19 ได้มากขึ้น และเรื่องปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับมามากขึ้น
ขณะที่ยอดขายของซีอาร์จีในช่วง Q1 – Q3 2565 เติบโตมากกว่า 25% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เบาบางลง ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มปรับตัวให้เข้ากับโควิด-19 ได้มากขึ้น และกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ โดยช่องทางการจำหน่ายหน้าร้านเติบโตมากขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2564 จึงเร่งขยายสาขาด้วยร้านรูปแบบใหม่ ใน Format และขนาดที่ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจเดลิเวอรี่ก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มได้เกิดการคุ้นชินกับความสะดวกสบายจากการใช้บริการเดลิเวอรี่ไปแล้ว
ในส่วนของภาพการแข่งขันของตลาดอาหาร QSR ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นหลายราย โดยเฉพาะอาหารประเภทไก่ทอดซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับคนไทย และนอกเหนือจากผู้เล่นใหม่ ๆ ก็ยังมีผู้เล่นเดิมในตลาด QSR ที่ขยายธุรกิจตัวเองมาสู่ธุรกิจไก่ทอดมาขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั้งสองปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย
เพิ่มวาไรตี้ KFC Cafe’ by Arigato
ทั้งนี้ จากการที่เคเอฟซี เป็นแบรนด์ที่มีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโปรดักส์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในหลากหลายโอกาส (occasion) ไม่ว่าจะกินคนเดียว หรือกินเป็นกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเข้าถึงลูกค้าได้ในทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย จึงทำให้แบรนด์มีลูกค้าที่เป็นแฟนของแบรนด์เป็นจำนวนมาก และด้วยเป้าหมายที่จะรักษาการเป็นแบรนด์ QSR อันดับหนึ่งในใจของลูกค้าคนไทย ในปี 2566 จึงเดินหน้าธุรกิจด้วยแผนงานต่าง ๆ ที่วางไว้
โดยเฉพาะกาแฟยังคงเป็น Incremental Occasion ให้กับแบรนด์ ดังนั้น “KFC Cafe’ by Arigato” จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการที่ร้านในช่วงเวลาเช้า และบ่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เครื่องดื่ม KFC Cafe’ by Arigato สามารถจำหน่ายได้มากถึง 2 ล้านแก้วในปี 2565 โดยในปี 2566 จะเพิ่มยอดขายด้วยการพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายของตัวเลือก ที่จะมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของความแปลกใหม่ ความสะดวกในการรับประทาน และราคาของสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดึงกลุ่มคนที่ชอบเมนูเครื่องดื่มชงสด และของหวานเข้ามาที่ เคเอฟซี ได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มความถี่ในการซื้อของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขา KFC Cafe’ by Arigato จำนวนกว่า 260 สาขา
ทุ่ม 400 ลบ. ดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
ทางแบรนด์ยังมีโมเดลร้านใหม่ๆ ที่พร้อมนำมาทดลองเปิด ทั้งในปี 2565 และ 2566 โดยร้านในรูปแบบใหม่นี้ จะเข้ามาเพื่อมาตอบสนองความสะดวกสบายของลูกค้า และการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น (Easy and Convenience) เช่น โมเดล พาร์ค แอนด์ โก (Park and Go) อีกทั้งยังมองหาพื้นที่ใหม่ ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจเดลิเวอรี่และออมนิชาแนล และจะตอบโจทย์การขยายเวลาการให้บริการ (Operating Hour) เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ทานดึก ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตของธุรกิจเคเอฟซีได้
พร้อมเดินหน้าปรับโฉมร้านใหม่ ทั้งรูปแบบ ดีไซน์ และคอนเซ็ปต์ให้ทันสมัย โดนใจ รวมถึงการนำเอา KFC Application เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุด ด้วยการร่วมมือกับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในด้านความคิดริเริ่มใหม่ ๆ
โดยเป้าหมายในการขยายสาขาในปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่มจำนวนกว่า 20 สาขา และคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีจำนวนสาขารวมมากกว่า 320 สาขา ส่วนแผนของปี 2566 ตั้งเป้าเปิดจำนวนกว่า 30 สาขา หรือประมาณ 10% ของจำนวนสาขาเดิม