Fairly Made สตาร์ตอัพฝรั่งเศส คว้า 5 ล้านยูโร สร้างแพลตฟอร์มช่วยแฟชั่นลดโลกร้อน เปลี่ยน Fast Fasion สู่ Fair Fashion

แพลตฟอร์ม Fairly Made เสนอบริการแผนที่ห่วงโซ่อุปทานแบรนด์แฟชั่น โดยคัดเลือกเฉพาะผู้ผลิตวัตถุดิบและโรงงานที่มีมาตรฐานการผลิตแบบยั่งยืน ​แนวคิดนี้ดึงดูดนักลงทุนจนได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม 5 ล้านยูโร จากบริษัท ETF ของอังกฤษและบริษัท French Founders ของฝรั่งเศส

อุตสาหกรรมแฟชั่น จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด โดยการสำรวจของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานของรัฐบาลฝรั่งเศส (ADEME) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นใช้ปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตสูงมากเป็นอันดับสาม รองจากการเพาะปลูกข้าวสาลีและการเพาะปลูกข้าว นอกจากนี้ ยังผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนถึง​ 10%

ประกอบกับรัฐบาลฝรั่งเศสเอง เริ่มออกข้อบังคับใหม่ให้แบรนด์เสื้อผ้าที่มีผลประกอบการมากกว่า 50 ล้านยูโรต้องแสดงที่มาของเส้นทาง ผลิตสินค้า, ปริมาณไมโครไฟเบอร์ และปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่ผสมในเนื้อผ้า รวมถึงความสามารถในการรีไซเคิลสินค้า เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากแบรนด์เสื้อผ้าขนาดใหญ่เหล่านี้สร้างผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมสูงมาก

ส่งผลให้แบรนด์แฟชั่นจำนวนมากให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มความสำคัญในการคัดเลือกที่มาของวัตถุดิบ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้ามือสองของแบรนด์เอง

Laure Betsch หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fairly Made และเคยผ่านประสบการณ์กับแบรนด์เสื้อผ้า H&M มาก่อน กล่าวว่า ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นส่วนใหญ่ปิดบังข้อมูลที่แท้จริงเบื้องหลังการผลิต การพัฒนาสินค้าแฟชั่น ตามวิถีการผลิตแบบยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบและโรงงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ Fairly Made เห็นโอกาสด้านการบริการคัดกรองข้อมูลและจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานต่อแบรนด์แฟชั่น

แนวคิดส่งเสริมการผลิตสินค้าแฟชั่นแบบยั่งยืนนี้ สามารถดึงดูดทุนสนับสนุน จำนวน 5 ล้านยูโร จากนักลงทุนอย่าง บริษัท ETF ของประเทศอังกฤษ และบริษัท French Founders ของฝรั่งเศส เพื่อนำไปใช้พัฒนาระบบบนแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสืบค้นที่มาของสินค้า เริ่มตั้งแต่ที่มาของแหล่งวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต สถานที่ผลิตของแต่ละแบรนด์ที่เป็นสมาชิกของ Fairly Made โดย ผ่านการสแกน QR Code บนป้ายสินค้าหรือผ่านทางเว็บไซต์

 

ซึ่ง Fairly Made ให้บริการแก่แบรนด์แฟชั่นผ่านการจ่ายค่าสมาชิก ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าและรูปแบบที่ต้องการให้ประเมินข้อมูล โดยเริ่มจากที่ผู้ประกอบการแฟชั่น กรอก​รายละเอียดข้อมูลทั้งหมดในการผลิตเพื่อให้ Fairly Made สามารถนำข้อมูลมาประเมินและให้คะแนนสินค้าแต่ละชิ้น ซึ่งหลังจากนั้น ข้อมูลส่วนนี้จะสามารถเปิดเผยต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้แพลตฟอร์มสามารถแสดงระดับผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและสังคมของสินค้าแต่ละชิ้นได้เช่นเดียวกัน โดยอ้างอิงจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 7 ข้อ ของสหภาพยุโรป ​หรือ Organisation Environmental Footprint (OEF)

ระบบจัดการข้อมูลของ Fairly Made นี้แตกต่างจากระบบการเก็บข้อมูลแบบ Blockchain ที่ใช้กันอยู่ในตัวแทนจำหน่ายสินค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ในห้างสรรพสินค้าปลีก Carrefour ซึ่งสามารถระบุที่มาของผู้ผลิตเนื้อไก่ แต่ไม่ได้ระบุกรรมวิธีและรายละเอียดการผลิตที่แท้จริงต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ นับจากก่อตั้งในปี 2018 จนถึงปัจจุบัน Fairly Made มีลูกค้ามากกว่า 50 ราย โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าแฟชั่นอย่าง LVMH, Balzac, Maje หรือ Sandro นอกจากนี้ แบรนด์ต่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มให้ความสนใจการให้บริการทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานของ Fairly Made เช่นเดียวกัน โดยเริ่มมีลูกค้าต่างชาติในอิตาลี สเปน และฮ่องกง และเริ่มขยายตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการเตรียมพัฒนารูปแบบการให้บริการเดียวกันต่อผู้ผลิตสินค้าโดยตรง

ข้อมูล : สคต. ปารีส

Stay Connected
Latest News