PepsiCo (เป๊ปซี่โค) ประกาศเป้าหมายใหม่ด้านบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่จาก 10% เป็น 20% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน PepsiCo Positive (pep+) กลยทุธ์การขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำ หรือ Iconic ของเครื่องดื่มด้านบรรจุภัณฑ์ Reusable และร่วมกำจัดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง (single-use virgin plastic) โดยก่อนหน้า PepsiCo ได้ลงทุนกว่า 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อธุรกิจ SodaStream แพลตฟอร์มชั้นนำของโลกด้าน Reuse และตอกย้ำความมุ่งมั่นการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยการเข้าร่วม the New Plastics Economy Global Commitment เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในการลดใช้พลาสติกใหม่ลง 50% ในปี 2030 และสามารถบรรลุ Net zero ได้ในปี 2040 ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในซัพพลายเชนเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้พลาสติกรีไซเคิลในการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบแนวคิด Reuse – Rethinking Packaging ของ Ellen MacArthur ผู้ก่อตั้ง ทาง PepsiCo จะขับเคลื่อนผ่าน 4 แนวทางสำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่เกี่ยวกับการใช้บรรจุภัณฑ์รียูสตามที่ได้ประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ 1. การขยายธุรกิจ SodaStream รวมทั้ง SodaStream Professional ให้เติบโต 2. การขยายธุรกิจแบบเติม (Refillable) ทั้งในกลุ่มขวดพลาสติก PET และขวดแก้ว 3.การเพิ่มบริการแก้ว Reusable cup สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแบบตู้กด และ 4. เร่งสร้างการเติบโตในผลิตภัณฑ์แบบผงเครื่องดื่มเข้มข้น
โดย PepsiCo จะนำเสนอโซลูชันเพื่อให้บริการแพ็กเกจของธุรกิจ Reusable ผ่านไปยังตลาดต่างประเทศ ที่มีอยู่กว่า 80 ประเทศทั่วโลก อาทิ
- การขยายธุรกิจ SodaStream และ SodaStream Professional ให้แพร่หลายในตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มรูปแบบใหม่ๆ ในการบริโภคเครื่องดื่มของผู้บริโถค ด้วยภาชนะบรรจุสไตล์ของตัวเอง ซึ่งจะสามารถช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกลงได้กว่า 2 แสนล้านขวด ภายในปี 2030
– การพัฒนาโปรแกรมรีฟิลเครื่องดื่ม (Refillable) และคืนบรรจุภัณฑ์ (Returnable) ทั้งในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและขวดพลาสติก ในตลาดหลักๆ อาทิ เม็กซิโก กัวเตมาลา โคลอมเบีย ชิลี เยอรมนี และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
– พัฒนาแบรนด์ในพอร์ต อาทิ Gatorade (เกเตอเรด), Propel (โพรเพล), Muscle Milk (มัสเซิลมิ้ลค์) และ Evolve (อีโวลฟ์) ในรูปแบบผงเข้มข้นหรือแบบเม็ด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปปรับแต่งเป็นเครื่องดื่มได้ในภาชนะของตัวเอง
จิม แอนดรูว์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ PepsiCo กล่าวว่า บริษัทต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบในการบริโภคไปจากแบบเดิมๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนในกลุ่ม Reusable และ Refillable ให้มากขึ้น ด้วยการทำให้ผู้บริโภควงกว้างสามารถเข้าถึงโซลูชันเหล่านี้ได้อย่างสะดวก ขณะที่ PepsiCo จะเพิ่มการลงทุนในนวัตกรรม และสนับสนุนนโยบายเพื่อเพิ่มความหลากหลายของทั้งบรรจุภัณฑ์ แพลตฟอร์ม รวมทั้งโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนการใช้ซ้ำของบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดการสร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง
ด้าน Sander Defruyt หัวหน้าโครงการ Plastic Initiative ของ Ellen MacArthur Foundation กล่าวว่า โมเดลธุรกิจแบบ Reuse มีส่วนสำคัญในการผลักดัน Circular Economy ขณะที่รายงานครั้งล่าสุดใน Global Commitment report สะท้อนว่าการกระบวนการ Reuse ในอุตสาหกรรมยังไม่มีการเติบโตมากนักเพราะไม่มีการผลักดันกลยุทธ์ด้านการรียูสอย่างจริงจัง การขับเคลื่อนของ PepsiCo อาจช่วยจุดประกายให้กับแบรนด์ระดับโลกอื่นๆ เร่งผลักดันไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่อลดการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของพวกเขา
PepsiCo จะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายรายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจให้รองรับการเติบโตของโมเดล Reuse และ Refill โดยล่าสุดได้เข้าร่วมสมาคม Closed Loop Partners NextGen Consortium เพื่อทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่ ในการออกแบบและทดสอบโมเดลใหม่เพื่อสนับสนุนการใช้งานแก้วแบบรียูส สำหรับทดแทนแก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแบบตู้กด