สร้าง Believe ‘แบรนด์ภูฏาน’ ​เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเข้ากับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมคุมคาร์บอนแบบติดลบได้ประเทศแรกในโลก

หลังความคลี่คลายของสถานการณ์ COVID-19 ราชอาณาจักรภูฏานได้กลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ภายใต้สโลแกน ‘Believe’ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงนโยบายการท่องเที่ยวเข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

พร้อมถือโอกาสรีแบรนด์ประเทศ เพื่อตอกย้ำคุณค่าแห่ง ‘แบรนด์ภูฏาน’ ซึ่งเป็นสังคมที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และวิถีธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นประเทศที่ประชาชนรู้สึกปลอดภัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบ และได้รับความสะดวกสบายที่ดีที่สุดจากโครงสร้างพื้นฐาน  โดยเฉพาะความเป็น Minimalist ประเทศที่มีความ ‘น้อยแต่มาก‘ ซึ่งถือเป็นนโยบายของประเทศภูฏานซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวในปี 1974 แต่ภายหลังจากเริ่มเป็นหนึ่งใน Destination ด้านการท่องเที่ยว จิตสำนึกและความตั้งใจอันดีงามเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหายไปจากคนในประเทศอย่างไม่รู้ตัว

ดร. โลเท เชอริง (H.E. Dr. Lotay Tshering) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาณ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการได้หยุดทบทวนถึงคุณค่า และตัวตนที่ได้สานต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมทั้งรัฐบาลภูฏานได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวภายหลังเปิดประเทศ ทั้งการปรับปรุงคุณภาพถนน ทางเดิน วัด และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ พร้อมซ่อมแซมและปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ จัดกิจกรรมเก็บขยะ ยกระดับมาตรฐานของผู้ให้บริการเพื่อรับรองบริการท่องเที่ยวที่เป็นมืออาชีพ (เช่น โรงแรม มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์ และคนขับรถ) พนักงานและผู้ให้บริการทุกคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเข้าร่วมอบรมในโปรแกรมเพิ่มทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้น

รวมทั้งการวางยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการท่องเที่ยว​ที่มาพร้อมนโยบายเพื่อแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ​สร้างให้เกิดการ​เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าใน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการยกระดับประสบการณ์ของผู้มาเยือนทุกคน ภายใต้สโลแกน ‘Believe’

เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การกลับมาเปิดประเทศในครั้งใหม่นี้ ภูฏานได้ประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) จาก 65 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของประเทศภูฏาน

คุณดอร์จี ดราดุล (Dorji Dhradhul) ผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นนี้ จะถูกนำไปสนับสนุนหลากหลายโครงการเพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมของภูฏาน ตลอดจนโครงการเพื่อความยั่งยืน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและโอกาสสำหรับเยาวชน รวมถึงให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับประชาชน รวมทั้งการนำไปสนับสนุนกองทุนที่สนับสนุนด้านความยั่งยืนต่างๆ ทั้งการปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากนักท่องเที่ยว ยกระดับแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ทำความสะอาดและบำรุงรักษาเส้นทาง ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และกระตุ้นภาคการขนส่งของภูฏาน รวมทั้งอีกหลายโครงการที่สำคัญ

“นอกจากจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของภูฏานแล้ว ค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนยังมุ่งตรงไปที่กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตแบบเดิมของภูฏาน รวมถึงสถาปัตยกรรมและค่านิยมดั้งเดิม ตลอดจนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่มีความหมายสำหรับเราทุกคน อนาคตของมรดกแผ่นดินอยู่ในมือของเราทุกคนที่ต้องปกป้อง และสรรค์สร้างเส้นทางใหม่ให้สำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย” 

ทั้งนี้ ภูฏานถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และกำลังเพิ่มความพยายามในการรักษาสถานะในการเป็นประเทศเแรกของโลกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบติดลบ (carbon-negative) โดยปี 2564 ที่ผ่านมา ภูฏานสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ถึง 9.4 ล้านตัน จากปริมาณการปล่อยก๊าซที่มีประมาณ 3.8 ล้านตัน ดังนั้น หากต้องการรักษาระดับปริมาณในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้ จำเป็นต้องเชื่อมโยงยุทธศาสตร์​การท่องเที่ยวเข้ากับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะอุตสาหกรรมสำคัญของภูฎาน ที่ไม่เพียงสร้างการเติบโตทางธุรกิจ แต่ต้องสามารถดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปได้​ ​โดยที่ยังส่งมอบประสบการณ์อันมีคุณค่าสำหรับนักท่องเที่ยว และช่วยสร้างอาชีพที่มีรายได้ดีสำหรับพลเมืองชาวภูฏานอีกด้วย

ยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว

​การตอกย้ำ ‘แบรนด์ภูฏาน’ พร้อมเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เพื่อเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศแห่งนี้อีกครั้ง จำเป็นต้องสื่อสารคำมั่นสัญญาและทิศทางในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างอนาคตสำหรับพลเมืองวัยหนุ่มสาวรุ่นต่อไป ภายใต้สโลแกน ‘Believe’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเพื่ออนาคต ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางที่ทุกคนจะได้สัมผัสเมื่อมาเยือนภูฏาน

โดยเฉพาะการยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวให้ดีขึ้น  ทั้งมาตรฐานของงานบริการและคุณภาพในมิติต่าง คุณภาพของงานบริการที่จะได้รับ ความสะอาด และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของเราเพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเวลาที่เดินทางท่องเที่ยวในภูฏาน โดยมีการจำกัดจำนวนรถที่จะวิ่งบนถนน และมีการจำกัดจำนวนผู้ที่เยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละแห่ง ซึ่งถือเป็นการรักษาประสบการณ์ของผู้มาเยือนประเทศภูฏาน ให้ได้สัมผัสความจริงใจที่แท้จริง เรียบง่าย แต่ต้องอยู่ในมาตรฐานงานบริการระดับโลก เพื่อรักษาความคาดหวังของลูกค้าที่จะได้รับ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนรูปแบบใหม่

โดยการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศภูฏานเกิดขึ้นท่ามกลาง ‘โปรเจ็คท์พลิกโฉมประเทศ’ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับภาคบริหารราชการไปจนถึงภาคการเงิน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มุ่งสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศภูฏานโดยได้เสริมทักษะให้พลเมืองทุกคนมีความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น

Stay Connected
Latest News