ในฐานะ Bank of Sustainability ที่วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตตามแนวทาง ESG ซึ่งไม่ได้เน้นการเติบโตจากแค่ตัวเลขของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบคุณค่าแห่งความยั่งยืนไปสู่ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
ธนาคารกสิกรไทย ยังได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบและผสมผสานเป็นเนื้อเดียวไปกับธุรกิจ และสามารถวัดผลได้ตามหลักการและมาตรฐานสากล เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกมิติ โดยเฉพาะเป้าหมายสู่ Net Zero จากการดำเนินงานของธนาคาร ภายในปี 2030 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร ตามเป้าหมายของประเทศไทย
ซึ่งธนาคารกสิกรไทยไม่เพียงวางยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ตัวของธนาคารเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ทุกธุรกิจสามารถพิชิตเป้าหมาย Net Zero ของแต่ละองค์กรได้ด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจของทั้งประเทศให้แข็งแกร่ง สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เนื่องจากประเด็นด้าน ESG กลายมาเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ของโลกธุรกิจนี้ได้ทัน
นำมาซึ่งการจัดสัมมนา “การปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ของผู้ประกอบการในยุค Net Zero” เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจไทยสามารถปรับตัว และรับมือต่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งจากกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงความคาดหวังทั้งจากนักลงทุนและผู้บริโภคที่ถามหาความรับผิดชอบจากธุรกิจที่พึงมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เมื่อโลกปรับ ธุรกิจต้องเปลี่ยน
คุณชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของธุรกิจต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงมิติของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเองก็เป็นหนึ่งในความหวังสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือในการบรรเทาหรือป้องกันผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้ลดน้อยลงไปได้เช่นกัน
“ประเด็นด้าน ESG เริ่มมีบทบาทต่อภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการที่กลุ่มผู้กำกับกิจการทั้งในและต่างประเทศ เริ่มวางแนวทางให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม พร้อมวางแนวทางให้ภาคธุรกิจปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานในการกำกับกิจการ การส่งเสริมให้นำไปสู่การปฏิบัติจริง พร้อมให้ธุรกิจจัดทำรายงานเพื่อเปิดเผยข้อมูลการขับเคลื่อนให้สาธารณชนรับทราบ รวมทั้งมีการประเมินผลประสิทธิภาพต่างๆ โดยเฉพาะเวทีระดับโลก ที่เริ่มตั้งกำแพงหรือกีดกันธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการ CBAM ของกลุ่มสหภาพยุโรป รวมไปถึงการตั้งเงื่อนไขหรือเป้าหมายเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบตลอดซัพพลายเชนในห่วงโซ่ ดังนั้น ทุกธุรกิจไม่ว่าจะรายใหญ่หรือเล็ก ก็จำเป็นต้องเข้าใจและตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย”
คุณพวงพันธ์ ศรีทอง ผู้จัดการส่วนงานฉลากคาร์บอน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO กล่าวถึงการทำธุรกิจภายใต้บริบทภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องหาวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตหรือดำเนินธุรกิจอย่างสูงสุด ภายใต้การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยที่สุด สอดคล้องกับกรอบนโยบายของประเทศที่ตั้งเป้าสู่การเป็น Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ผ่านการขับเคลื่อนทั้งการใช้กฎระเบียบหรือข้อกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น จากปัจจุบันที่อาจยังอยู่ในภาคสมัครใจ การใช้กลไกความร่วมมือจากภาคภาคีเครือข่ายต่างๆ การใช้เทคโนโลยีหรือการพัฒนานวัตกรรมมาช่วย รวมไปถึงการสนับสนุนการเข้าถึงงบประมาณเพื่อลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 81 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero แล้ว ขณะที่อีกกว่า 60 ประเทศอยู่ระหว่างการประกาศเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งในส่วนภาคธุรกิจชั้นนำกว่า 1,180 องค์กรทั่วโลก ที่ประกาศเป้าหมายสู่ Net Zero โดยภาคธุรกิจไทยเองมี 44 องค์กรแล้วที่ประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับแผนเพื่อรับมือและทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
การประกาศเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ ยังส่งผลกระทบให้เกิดการปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์ที่แต่ละพื้นที่ กำหนดในฐานะส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป ที่วางเป้าหมาย Net zero ในปี 2050 และเพิ่มการลดคาร์บอน 50-55% จากเดิมที่วางไว้ 40% ในปี 2030 นำมาซึ่งการประกาศใช้แผนปฏิรูปสีเขียวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือ CBAM ตามอัตราส่วนการสร้างคาร์บอนของสินค้านำเข้าขอฝ EU โดยปีหน้าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ใน 9 อุตสาหกรรมหลักๆ เช่น ซีเมนต์ เหล็ก พลาสติก ปุ๋ย ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และเตรียมบังคับใช้เต็มรูปแบบทุกอุตสาหกรรม ในอีก 3 ปี หรือในปี 2568 เช่นเดียวกับสหรัฐที่เตรียมใช้นโยบาย USA BCA สำหรับกลุ่มสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2567 ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดยุโรปและอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การปรับตัวของภาคธุรกิจไทยสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ สามารถทำได้ผ่านทั้งผลิตภัณฑ์ องค์กร พนักงาน และกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ รูปแบบพลังงานที่ใช้ รวมทั้งการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมทั้งลดใช้พลังงานในสำนักงาน หรือปรับพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่พยายามหาแนวทางลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องพยายามเพิ่มศักยภาพในฟากอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อเพิ่มโอกาสให้แข่งขันได้มากขึ้น รวมทั้งต้องเริ่มประเมินการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อนำมาซึ่งการวางแนวทางลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมาย”
3 Best Practice ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
งานสัมมนาครั้งนี้ ยังได้หยิบยกแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ ESG Framework เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งการปรับตัวรับกับภาวะ Green Disruption ของภาคธุรกิจชั้นนำระดับประเทศในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไป ทั้งในกลุ่มธุรกิจอาหารอย่าง บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพลังงานงานอย่าง บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด และกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด
โดย คุณกำธร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการผลิต บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหารและเบเกอรี่ชื่อดังอย่าง S&P ที่ปัจจุบันมีสาขาเกือบ 500 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีโรงงานในการผลิตเบเกอรี่ 3 แห่ง และอาหาร 1 แห่ง ซึ่งได้ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนมากว่า 8 ปีแล้ว รวมทั้งการคำนวณการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลิตภัณฑ์หลักและภายในโรงงาน ตลอดจนภายในสำนักงานใหญ่ด้วย เพื่อเริ่มต้นสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 รวมทั้งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ช่วยลดคาร์บอนได้ราว 600 ตัน และลดต้นทุนการซื้อไฟฟ้าลงได้ถึง 50% โดยมีแผนจะติดตั้งเพิ่มเติมสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในทุกโรงงาน รวมทั้งในศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ส่วนด้านสังคมได้มีการส่งมอบอาหารส่วนเกินให้ชุมชนผ่านเครือข่าย SOS ไปแล้วกว่า 8 หมื่นมื้ออาหาร
“เราให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกทั้งภายในโรงงานและศูนย์การกระจายสินค้า โดยมีเป้าหมายจะใช้พลังงานจากโซลาร์เพื่อทดแทนการใช้พลังงานในช่วงกลางวันภายในโรงงานได้ทั้งหมด รวมทั้งการมีแผน Waste Reduction ผ่านการบริหารจัดการภายในกระบวนการผลิต และลงทุนด้านระบบออโตเมชันมาใช้ในการคำนวณการสั่งเบเกอรี่ไปยังหน้าร้าน ซึ่งลดความสูญเสียจาก 265 ล้านบาทในช่วง 5 ปีก่อน โดยปีล่าสุดตัวเลขความสูญเสียเหลือเพียง 150 ล้านบาท ซึ่งลดไปได้ถึง 45% สะท้อนว่าเป็นการลงทุนที่ช่วยได้ทั้งการลดคาร์บอนและยังช่วยเพิ่มกำไรให้องค์กรได้ด้วย”
คุณเฉลิมชาติ การุญ รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งกระแสไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ ซึ่งดำเนินธุรกิจมาเกือบ 60 ปี พร้อมแตกไลน์ธุรกิจมาสู่กลุ่มพลังงานสะอาดอย่างการผลิตโซลาร์เซลล์ และยังเป็นสมาชิก Global Compact Network Thailand ซึ่งมีพันธกิจ 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน ต่อต้านคอรัปชัน รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการลดคาร์บอนในการดำเนินงานให้เป็นศูนย์ พร้อมทั้งมีโรงงานโซลาร์ ที่สมุทรปราการ รวมทั้งติดตั้งโซลาร์รูฟในโรงงาน ผลิตไฟฟ้าได้ 2.3 เมกะวัตต์ และ 1.9 เมกะวัตต์ พร้อมประเมินการปล่อยและดูดซับคาร์บอน เพื่อวางแผนสร้างความเป็นกลางในอนาคต
“ประสิทธิภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนมาจากการจัดการ 2 ส่วนหลักคือ การจัดการด้านการใช้พลังงานและการใช้วัตถุดิบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนในทุกธุรกิจและช่วยเพิ่มผลผลิตหรือ Yield ให้ธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรในธุรกิจเราซึ่งถือเป็นทรัพยากรส่วนรวม จึงจำเป็นต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าของเราทั้งสายไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านรวมไปถึงสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีส่วนในการช่วยลดความสูญเสียได้ตลอดอายุการใช้งาน สะท้อนถึงการมองไปไกลกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันแต่มองไกลไปถึงสิ่งที่ผลิตภัณฑ์เราจะมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนได้ในระยะยาวอีกด้วย ”
คุณอดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ภายใต้แบรนด์ “กุ๊ก” กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้วางกรอบ ESG พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน รวมทั้งได้จัดทำรายงานด้านความยั่งยืน แม้ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม โดยวางเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 พร้อมลดคาร์บอนลง 20% ภายในปี 2027 พร้อมขับเคลื่อน BCG Economy ภายในองค์กร รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ด้วยการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายบุคคล ขณะเดียวกันได้ใช้ดัชนีชี้วัดความสุขในการทำงานของพนักงาน รวมทั้งใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประเมินการลงทุนในธุรกิจอย่างมีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันโดยมีแผนรองรับความเสี่ยง เพื่อเคารพผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
“การลงทุนในเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน แต่ทางกลับกันยังช่วยให้ลดตันทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเป็น Low Waste Cost Producer ที่สร้างความยั่งยืนและสมดุลภายในระบบซัพพลายเชน เพราะการคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้เราสามารถซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตได้ในที่ราคาที่ โดยไม่ต้องผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค เป็นการสร้างกำไรได้จากการลดความสูญเสียในองค์กร โดยไม่ต้องไปผลักภาระผ่านราคาขาย ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างมูลค่าจาก Waste ภายในองค์กร เพื่อให้เป็น A Fossil Free Factory และสามารถบรรลุ Net Zero ได้ตาม Green Business Roadmap ที่วางไว้”
นอกจากนี้ คุณอิทธิพร อินทรวิศิษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย ยังเป็นตัวแทนจากภาคการเงิน ที่เข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ Low Carbon ผ่านบทบาทสำคัญของธนาคารในฐานะแหล่งทุนและการให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับกลุ่มธุรกิจเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาวภายใต้เงื่อนไขพิเศษทั้งวงเงินและอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
“ธนาคารมีหลากหลายแพกเกจตามแนวทางที่แต่ละธุรกิจจะดำเนินการเพื่อลดการใช้พลังงานในองค์กร อาทิ สินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป สินเชื่อการประหยัดพลังงาน และสินเชื่อสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งยังมีสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ และปลอดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดสู่การเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคตปัจจัยในการปรับตัวสู่ Green Business ของภาคธุรกิจจะกลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขในการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ รวมทั้งการได้รับข้อเสนอพิเศษกว่ากลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนในระดับสูง เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ และพิชิตเป้าหมายในการสร้าง Net zero ได้อย่างที่ตั้งใจไว้”